เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2564 ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กรณี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ  ได้ลงนามประกาศ ศธ. เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้โรงเรียนปรับลดค่าธรรมเนียมการเรียน นั้น ว่า นางสาวตรีนุช คงกังวลถึงความเดือดร้อนของผู้ปกครองในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการหารือร่วมกันระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และสมาคมผู้ปกครองว่าจะสามารถลดค่าธรรมเนียมอื่นได้หรือไม่ ว่าส่วนไหนที่ไม่ได้ใช้ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าแอร์  ค่าว่ายนำ ค่าเรียนพิเศษ เป็นต้น อย่างไรก็ตามก็ต้องดูเรื่องของคุณภาพการศึกษาด้วย ซึ่งอาจจะช่วยเหลือเป็นราย ๆ ไป

ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ แต่มีการจัดการศึกษาหลายรูปแบบ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เช่น กลุ่มที่ 1. ห้องเรียนพิเศษ โปรแกรมนานาชาติ อังริชโปรแกรม(สองภาษา)พหุภาษา ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ใช้หลักสูตรภาษาอังกฤษ ซึ่งห้องเรียนเหล่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ไม่เกินเพดานที่สพฐ.กำหนด กลุ่มที่2. ห้องเรียนปกติ แต่ต้องการจัดกิจกรรมเสริมเพื่อให้เกิดคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งสพฐ.ได้เคยมีประกาศให้โรงเรียนเก็บค่าบำรุงการศึกษาเพิ่มขึ้นได้ แต่กำหนดเพดานไว้ว่าโรงเรียนสามารถเก็บได้เท่าไหร่ ไม่เกินเท่าไหร่ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเขตพื้นที่การศึกษาด้วย แต่ในภาวะที่ไม่ปกติตอนนี้ ผู้ปกครองก็ลำบาก สพฐ.จะนำประกาศของรมว.ศึกษาธิการ ให้เชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์ของสพฐ. ว่าส่วนไหนที่ออกไปแล้วเพิ่มภาระให้ปกครอง ส่วนไหนที่ไม่ต้องเก็บ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บริบทความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ แล้วแต่ความสมัครใจของผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษา ที่ต้องการให้ลูกหลานเรียนให้มีคุณภาพแบบไหน

“โรงเรียนก็เปรียบเสมือนกับโรงงานที่ผลิตออกมาแบบไหน ให้มีคุณภาพ ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งก็ต้องจัดให้อยู่ในความพอดี ไม่เดือดร้อนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สิ่งที่รมว.ศึกษาธิการประกาศไป เพราะอยากให้โรงเรียนไปดูว่าอะไรจะเอื้ออาทรกันได้หรือลดภาระให้กับผู้ปกครองได้ ภายใต้ภาวะวิกฤต ดังนั้น เรื่องนี้ผู้ปกครองและโรงเรียนต้องหารือร่วมกัน”เลขาธิการกพฐ.กล่าว

วันเดียวกัน นางสาวตรีนุช ได้ให้หลักการเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง โดยให้ คืนเงินส่วนที่ไม่ได้จัด ผ่อนผันส่วนที่จำเป็นต้องจัด และช่วยเหลือผู้ปกครองเป็นรายกรณี

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments