เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม กพฐ. ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งจะมีการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ โดยจะยึดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการเรียน On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค. On-air เรียนผ่าน DLTV On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต และ On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร แต่ในพื้นที่สีแดงเข้มจะไม่สามารถจัดการเรียนแบบ On-site ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นโรงเรียนสามารถเลือกรูปแบบการเรียนดังกล่าวให้เหมะสมกับสภาพพื้นที่ตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ตามที่จังหวัดกำหนด

“ผมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่า การเรียนออนไลน์ โรงเรียนไม่ควรจะจำกัดเฉพาะนักเรียนของตนเองเท่านั้น ควรให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์ต่างโรงเรียนได้ด้วย เช่น โรงเรียนแข่งขันสูงควรเปิดโอกาสให้นักเรียนลงทะเบียนเรียนได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเปิดกว้าง สิ่งที่ตามมาคือนักเรียนจะมีทักษะ SDL หรือ Self Directed Learning มากขึ้น ทำให้นักเรียนสามารถกำหนดเนื้อหา และทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองได้ เป็นการช่วยเพิ่มทักษะการหาข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนในอนาคตได้”ดร.เอกชัย กล่าวและว่า  นอกจากนี้ตนยังได้เสนอว่าการเรียนการสอนในปัจจุบันต้องพยายามหลีกเลี่ยงการย้ายห้องเรียนไปอยู่บ้านของเด็ก ควรจะเน้นสัมฤทธิ์ผลการเรียน และสมรรถนะที่เด็กน่าจะทำได้ ดังนั้น โรงเรียนและครูควรยืดหยุ่นเรื่องการนับเวลาเรียน หรือจำนวนวันที่เรียน ซึ่งทางสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รับเรื่องนี้ไปพิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พบว่าโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 183 เขต เปิดวันที่ 1 มิถุนายน 11,625 แห่ง เปิดเรียนวันที่ 14 มิถุนายน 14,661 แห่ง และเปิดเรียนวันอื่นๆ 313 แห่ง โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 62 เขต เปิดวันที่ 1 มิถุนายน 1,293 แห่ง เปิดวันที่ 14 มิถุนายน 1,005 แห่ง เปิดเรียนวันอื่นๆ 61 แห่ง โรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ​(สศศ.) เปิดวันที่ 1 มิถุนายน 30 แห่ง เปิดวันที่ 14 มิถุนายน 70 แห่ง ซึ่งโรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนตามบริบทของพื้นที่ และสามารถจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบที่ สพฐ.วางไว้ 5 รูปแบบได้

ประธานกพฐ.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ที่ประชุมได้พูดถึงการเรียนการสอน 5 รูปแบบ จะต้องประเมินว่าเมื่อนักเรียนได้เรียนผ่าน 5 รูปแบบที่กำหนดไว้ มีผลสัมฤทธิ์การเรียนเป็นอย่างไร เพราะที่ประชุมให้ความสำคัญว่าจะต้องมีระบบประเมินการเรียนในแต่ละรูปแบบที่ชัดเจนด้วย เพื่อให้ทราบว่าการเรียนในรูปแบบไหนเห็นผลสัมฤทธิ์ และนักเรียนได้ความรู้มากที่สุด หากทราบว่ารูปแบบไหนทำให้นักเรียนได้รับความรู้มาก ก็สามารถพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ ซึ่งตนข้อเสนอที่ประชุมพิจารณาว่า ขณะนี้เด็กเรียนออนไลน์มากขึ้น อาจจะทำให้ครูไม่สามารถวัดและประเมินผลเด็กได้ โดยเฉพาะนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ดังนั้นหากจะให้เด็กชั้นประถมศึกษาเลื่อนชั้นขึ้นไป ก็ควรให้ครูประจำชั้นเลื่อนตามตัวเด็กด้วย เพราะครูจะเป็นผู้รู้จุดอ่อน จุดแข็งของนักเรียนในการเรียนออนไลน์เมื่อปีที่ผ่านมา และครูจะสามารถเติมความรู้ให้กับเด็กได้

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า  ในการประชุมกพฐ.ครั้งนี้ เป็นการหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ.  อาทิ ความก้าวหน้าการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน แนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ความปลอดภัยของผู้เรียน ข้อจำกัดในการบริหารงบประมาณของ สพฐ. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และการรวม/การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments