ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกสายงาน ทุกตำแหน่ง และทุกวิทยฐานะ ใหม่ หรือ ว.PA โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไปนั้น  เว็บไซต์ focusnews.in.th ได้รับเสียงสะท้อนจากครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่รู้สึกกังวลกับการใช้เกณฑ์ PA โดยได้รับการเปิดเผยจาก ประธานคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อ.กศจ.) จังหวัดหนึ่งว่า ว.PA มีข้อจำกัด คือ

  1. ข้อดี 10 อย่างของ ว.PA ที่ เลขาธิการ ก.ค.ศ. บอกว่า ดีนั้น ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างไรบ้าง หรือกำหนดขึ้นมาเอง หรือกล่าวอ้างกันเอง
  2. การคงวิทยฐานะ มีวิธีการให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร ให้ครูมีส่วนร่วมในการคิดกลั่นกรองออกมาหรือไม่อย่าง หรือกำหนดเอาเองจากหอคอยงาช้าง
  3. การประเมิน เหตุใดจึงเอาบุคคลภายนอกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมาก เช่น การให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน PA เคยมีซักครั้งไหมที่ครู มีโอกาสเข้าไปประเมินเงินเดือน หรือผลงานของอาจารย์มหาวิทยาลัย
  4. การทำข้อตกลง ถ้าครูผู้สอนต้องทำการสอนหลายวิชา จะต้องทำข้อตกลงในประเด็นท้าทายอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีการถาม-ตอบ 10 ข้อดีของระบบวิทยฐานะแบบใหม่ ด้วยว่า 

1) “ลด” ความซ้ำซ้อนของการประเมิน

ตอบ ลดได้จริงหรือไม่ เพราะการประเมินตาม ว.17 เดิมนั้น ประเมินเพียงแค่ครั้งเดียวคือตอนที่ขอรับการประเมินเท่านั้น แต่ตามหลักเกณฑ์ ว.PA ต้องทำการประเมินทุกปี สร้างความกดดันให้กับครูผู้สอนทุก ๆ ปี เจอผู้บริหารที่มีคุณธรรมก็ดีไป แต่หากผู้บริหารที่ใช้ PA เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ต่าง ๆ จากครู ก็จะทำให้เกิดปัญหาในโรงเรียนนั้น ๆ

2) “ละ” ความสนใจจากมหกรรมประกวดแข่งขัน และหันมาใส่ใจเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม

ตอบ หันมาใส่ใจเด็ก หรือหันมาใส่ใจผู้บริหารในระดับต่าง ๆ กันแน่ เพราะตามหลักเกณฑ์ ว. PA นั้น ผู้บริหารสถานศึกษา นับว่ามีบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์นี้

3) “เลิก” สะสมแฟ้ม โล่ รางวัล ฯลฯ

ตอบ ในประเด็นท้าทาย ของ ว.PA นั้น เมื่อดำเนินการไปแล้ว ถ้าไม่มีรางวัลมาเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จในการดำเนินงาน แล้วจะใช้อะไรเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จในประเด็นท้ายทายนั้น เพราะถ้าให้ผู้บริหาร หรือ คณะกรรมการของแต่ละโรงเรียนเป็นผู้รับรองความสำเร็จตามประเด็นท้าทาย ก็จะทำให้ขาดมาตรฐานในการดำเนินการในแต่ละโรงเรียน

4) “หลีก” การล่าใบประกาศฯ การนับ ชม. อบรม หรือ ชม.PLC ที่จริง ๆ ทำไม่ได้

ตอบ ไม่หลีกจริง เพราะยังต้องมีการกำหนดชั่วโมงการพัฒนาไว้ 20 ชั่วโมงต่อปีอยู่ดี หรือ ชั่วโมง PLC ก็ยังต้องมี ซึ่งก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าแต่ละโรงเรียนจะดำเนินการอย่างไร

5) “เลี่ยง” การวัดคุณภาพจากคะแนน O-Net เพราะบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน

ตอบ ยิ่งไม่มี โอเน็ต ยิ่งจะทำให้ไม่มีมาตรฐานกลางในการประเมิน การทดสอบ โอเน็ตยังคงจำเป็นในการวัดมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เพียงแต่ไม่ควรนำมาใช้ประเมินแบบ 100 %

6) “รวดเร็ว” ใช้ระบบออนไลน์ ไม่ต้องรอผลเป็นปี ส่งใหม่ได้ทุกภาคเรียน

ตอบ ในการประเมินวิทยฐานะตาม ว.PA ใช้กรรมการประเมิน 3 คน ต่อครู 1 คน ครูในประเทศไทยมีจำนวน 400,000 คน ถ้าประเมินพร้อมกัน อาจต้องใช้กรรมการประเมินไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคน

7) “โปร่งใส” ผู้ประเมินทุกคนต้องผ่านการพัฒนา ใช้ระบบการสุ่ม

ตอบ จะแน่ใจได้อย่างไรว่ามาตรฐานการประเมินวิทยฐานะโดยผู้ทรงคุณวุฒิจะเท่ากัน หรือ ใกล้เคียงกัน

8) “ไม่ต้องเสียเงิน” ในการทำวิจัย เพราะประเมินจากคุณภาพการสอนไม่ใช่ประเมินคุณภาพคลิปที่ส่งมา

ตอบ “ไม่ต้องเสียเงิน” ในการทำวิจัย แต่ต้องเสียเงินในการซื้อกล้องบันทึกวิดีโอ และไมโครโฟนคุณภาพดี ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตกแต่งห้องเรียนให้ดูดี (เพราะกลัวประเมินไม่ผ่าน) ทั้ง ๆ ที่ ตามโรงเรียนชายขอบนั้น สภาพอาคารเรียนไม่มีความพร้อม ไม่มีความมั่นคงแข็งแรงอยู่แล้ว ของบประมาณสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ก็ยากเย็นแสนเข็ญ

9) “ยุติธรรม” แยกตัวชี้วัดการประเมินตามลักษณะห้องเรียน (สามัญ ปฐมวัย การศึกษาพิเศษ กศน. อาชีวะ) มีการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะตามระเบียบฯ

ตอบ ไม่มีความยุติธรรมสำหรับครูที่ทำการสอนในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความขาดแคลนทุกด้าน

10) “ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน” อย่างแท้จริง

ตอบ ยังไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าจะเกิดผลดีกับนักเรียนอย่างแท้จริง เพราะครูผู้สอนต้องมาพะวงกับการทำข้อตกลง และพะวงกับการอัดคลิปสอน ซึ่งต้องมีการตระเตรียมอย่างหนัก เพื่อให้ได้คลิปที่ดูดี ดูน่าถูกใจกรรมการประเมิน

แต่เหนือสิ่งใดบรรดาครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อสังเกตว่าการกำหนดเป็น ว.PA ที่นำความคิดของอาจารย์มหาวิทยาลัยมาเป็นตัวตั้ง เป็นการนำเกณฑ์มาครอบครูหรือไม่

3.7 6 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

1 Comment
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments
สวัสดิ์ บรรจงพาศ
สวัสดิ์ บรรจงพาศ
2 years ago

เพื่อไม่ให้ รร ขนาดเล็ก/ใหญ่ รร ยอดนิยม/ชายขอบ ได้เปรียบเสียเปรียบ ควรประเมินที่ช่วงของการพัฒนา ว่างานผู้เรียนและที่รับผิดชอบ มีผลดี มีชวงของการพัฒนามาดน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ใช้เกณฑ์เดียวกัน ไม่ใช่ใช้รูปแบบเดียวกัน เช่น
นร รร ชายขอบ ก่อนเข้าเรียนยังพูดไทยไม่ได้ พูดไทยไม่ชัด แต่เมื่อมาเข้าเรียนครูสามารถทำให้ นร พูดไทยได้ชัด เขียนภาษาไทยได้บางคำ แม้น้อยกว่า นร รร ยอดนิยมในเมือง
กับ อีก รร เป็น รร ยอดนิยม ก่อนเข้าเรียน นร พูดไทยคล่อง เขียนได้มาบ้างแล้ว เมื่อมาเข้าเรียน ผลทำให้ นร เขียนคำในภาษาไทยได้เพิ่มขึ้น จะนับจำนวนคำ ที่ นร 2 รร นี้เขียนได้ มาเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินไม่ได้ แต่ต้องวัดว่า นร พูด้พิ่มขึ้นได้กี่คำ เขียนเพิ่มขึ้นได้กี่คำ ก็จะเห็นว่าครู รร ชายขอบควรมีผลการประเมินที่ดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น