เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(มบส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.)เป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนา (สวพ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่งทั่วประเทศ ผ่านระบบ Zoom ซึ่งมีอธิการบดีมหาวิทยาราชภัฏ และตัวแทน สวพ.เข้าร่วม โดย ผศ.ดร.ลินดา กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ถือว่าเป็นการยกระดับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้ยั่งยืน และร่วมกันนำองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละสถาบัน ทั้งนี้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันหรือดิสรัปชัน ทำให้การดำเนินการตามภารกิจของ มรภ.ทั้ง 38 แห่ง หรือ สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ไม่สามารถทำได้เพียงลำพังเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการผนึกกำลังและความร่วมมือกันของเครือข่ายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างระบบ กลไกลในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน การบูรณาการทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ และสิ่งสนับสนุนต่างๆ ตามศักยภาพที่โดดเด่นของแต่ละแห่ง เพื่อที่จะมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน รวมถึงเป็นการรวมพลังกลุ่มในการดำเนินการเพื่อขอรับงบประมาณในการขับเคลื่อนงานวิจัย และสร้างนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชุมท้องถิ่นและประเทศชาติด้วย ที่ผ่านมาเห็นว่าถ้ามหาวิทยาลัยของบฯเพียงลำพัง มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ถ้าเรารวมพลังของบฯและต่อรองในการนำเสนอโครงการวิจัยที่มีอิมแพค เชื่อว่าโอกาสจะประสบความสำเร็จจะเป็นไปได้มากกว่าการเสนอโครงการเพียงลำพัง

ด้าน ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.บุรีรัมย์ และประธานเครือข่าย สวพ.มรภ. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ความร่วมมือ ได้แก่ 1. ปฏิรูประบบบริหารจัดการงานวิจัยระดับสถาบันและระดับเครือข่าย เพื่อพัฒนานักบริหารจัดการงานวิจัยและชุมชนท้องถิ่นสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 2. สร้างและพัฒนานักวิจัยใหม่และนักวิจัยทุกประเภทของแต่ละสถาบันให้มีคุณธรรมและ จริยธรรมการวิจัยในระดับสูง โดยร่วมกันสนับสนุนทรัพยากรทุกด้านของแต่ละสถาบัน เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพของนักวิจัยให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น 3.ร่วมกันสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ยั่งยืน และร่วมกันนำองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่นและชุมชนอื่นได้อย่างเป็น รูปธรรม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ของแต่ละสถาบันวางเป้าหมายไว้ 4.ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่การตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับชาติและนานาชาติ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการพัฒนา Impact Factor ของแต่ละสถาบันให้มี Index ที่เพิ่มสูงขึ้น 5. ส่งเสริมและสนับสนุน การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และถอดบทเรียนการใช้ประโยชน์ ผลงานวิจัยนวัตกรรม สู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์เชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์ เชิงสังคม เชิงสิ่งแวดล้อม และเชิงสาธารณะอื่น ๆ และ.6. ร่วมกันดำเนินงาน รวบรวม กลั่นกรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเด็นเร่งด่วนเชิงนโยบายเพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจในกรรมการบริหารระดับสูงของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ.

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments