น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ที่ โรงเรียนบ้านเมืองบาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)หนองคาย เขต 1  เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีนโยบายหลักในสร้างโรงเรียนคุณภาพของชุมชนทุกเขตพื้นที่การศึกษาอย่างน้อยเขตพื้นที่การศึกษาละ 1 แห่ง  โดยปีงบประมาณ 2565 ได้มีการจัดสรรงบประมาณลงไปให้แล้ว ตนจึงได้นำผู้บริหาร ศธ.ลงไปติดตามเพื่อดูความพร้อม การวางแผนการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างไร และปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อที่ส่วนกลางจะสามารถสนับสนุนให้การสร้างโรงเรียนคุณภาพเกิดขึ้นได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหา ความซับซ้อน และ ความต้องการไม่เหมือนกัน

“ทราบว่าที่โรงเรียนบ้านเมืองบาง ผู้ปกครองและชุมชนต้องการให้โรงเรียนส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ซึ่งทางส่วนกลางโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้จัดสรรงบประมาณไปสนับสนุนกว่า 19 ล้านบาท แล้วก็ได้สนับสนุนครูจีนและครูสอนภาษาอังกฤษมาให้  เพื่อผู้ปกครองจะได้ไม่จำเป็นต้องส่งบุตรหลานเดินทางไกลเข้าไปเรียนในเมือง และเพื่อให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาจีนและภาษาอังกฤษ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูโรงเรียนบ้านเมืองบาง มีความพร้อมมากที่สุดในกลุ่มทั้ง  7 โรงเรียนเครือข่าย ดิฉันจึงเน้นย้ำว่า นอกจากภาษาจีนและภาษาอังกฤษแล้วทางโรงเรียนยังขาดแคลนอะไรอีก หรือต้องการเพิ่มเติมทางวิชาการ หรือทรัพยากรอะไรอีก เพื่อให้โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชนจริง ๆ  ซึ่งก็ทราบว่าขาดแคลน รถรับ-ส่งนักเรียน ซึ่งทาง สพฐ.ก็ได้จัดสรรงบมาให้ส่วนหนึ่งแล้ว หากไม่เพียงพอก็ให้หารือกัน ทางส่วนกลางจะได้พิจารณาสนับสนุนอย่างไรต่อไป  นอกจากนี้โรงเรียนแห่งนี้ยังเป็นโรงเรียนอารยเกษตรฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ ศธ.ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อน  และก็เป็นโรงเรียนActive Learning ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์โรงเรียนที่มีคุณภาพจึงอยากทำให้โรงเรียนแห่งนี้มีความโดดเด่น และเป็นต้นแบบที่ดีเพื่อนำไปต่อยอดได้”

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชนไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะไปยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดโครงการนี้ เช่น เด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนมีจำนวนมากทำให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็ก ประกอบกับการคมนาคมสะดวกเด็กแห่เข้าเรียนในเมืองมากกว่ามาเรียนใกล้บ้าน ขณะเดียวกันคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.)ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เมื่อครูเกษียณจะไม่คืนอัตราให้ ซึ่งจากเหตุผลและปัจจัยดังกล่าววิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จะแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนและโรงเรียน คือต้องสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงเกิดโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชนขึ้น เพื่อให้มาใช้ทรัพยากรร่วมกัน

ด้าน ดร.นิภาพร ดีมาก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเมืองบาง กล่าวว่า โรงเรียนบ้านเมืองบาง เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลาง มีนักเรียน 333 คน มีความพร้อมของอาคารสถานที่และแหล่งเรียนรู้ มีครูครบชั้นครบทุกวิชาเอก และเป็นศูนย์กลางของโรงเรียนขนาดเล็กอีก 6 โรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงมีนักเรียน 50-140 คน อยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านเมืองบาง 2-9 กม. เดินทางมาสะดวกใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที และทั้ง 6 โรงเรียนมีครูไม่ครบชั้นไม่ครบวิชาเอก จึงใช้วิธีการเรียนรวม คละชั้น  ซึ่งทุกปีจะระดมทรัพยากรด้วยการทำผ้าป่าการศึกษา เพื่อหางบฯจ้างครูและพัฒนาโรงเรียน และที่ผ่านมาผู้บริหารทั้ง 7 โรงเรียนได้ทำ MOU ร่วมกันขับเคลื่อนคุณภาพเริ่มต้นวิชาภาษาจีนก่อนและตามด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความต้องการของชุมชนที่อยากให้ลูกหลานเก่งภาษา โดยเริ่มที่ชั้น ป.1 และ ป.4 ในปี 2565 และภายใน 3 ปี จะครบทุกระดับชั้น นอกจากนี้ยังมีรถ 1 คันคอยรับส่งนักเรียนด้วย

“วันนี้โรงเรียนบ้านเมืองบาง ได้รับงบฯเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพในทุกมิติ ทั้งทางวิชาการ วิชาชีพและทักษะชีวิต เพื่อพลิกโฉมเป็น มินิอินเตอร์ ควบคู่กับการสืบสานอารยธรรมท้องถิ่น คาดหวังว่าจะปรับเปลี่ยนวิถีคิดใหม่ให้ชุมชนเห็นว่า โรงเรียนเล็กมาร่วมใช้ทรัพยากรกับโรงเรียนบ้านเมืองบาง ความเป็น “บวร” บ้านวัดโรงเรียน ก็ไม่ได้สูญหายไปไหนแค่ขยายอาณาเขตของบวรให้กว่างขึ้น ยังทำผ้าป่าได้ทุกปีและเป็นผ้าป่ากองที่ใหญ่ขึ้น จึงมั่นใจว่าความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนบ้านเมืองบาง คือ จะสามารถดึงผู้เรียนที่นั่งรถโดยสารไปแสวงหาโรงเรียนคุณภาพในเมืองให้กลับมาอยู่ที่โรงเรียนบ้านเมืองบาง และทำให้โรงเรียนบ้านเมืองบางเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความพร้อมที่สุดในตำบลนี้  ขอขอบคุณ กระทรวงศึกษาฯที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กขนาดกลางมีโอกาสเรียนรู้ในห้องเรียนที่มีสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้เรียนกับชาวต่างชาติเจ้าของภาษา เป็นเมกกะโปรเจคที่สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างแท้จริง”ดร.นิภาพรกล่าว

1 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments