ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส. ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้นำคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือกับทางสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ในกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับการอนุรักษ์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมี ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะกรรมการ BEDO เป็นประธาน ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว เป็นสักขีพยาน และคุณสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผอ. BEDO และคณะผู้บริหารเข้าร่วม ทั้งนี้จากการหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน   ทำให้ทราบว่าองค์กรทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน อีกทั้งสามารถร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน บนฐานการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น ที่สำคัญBEDO เป็นหน่วยงานที่มีทรัพยากร ทั้งบุคคล ฐานข้อมูล และเครื่องมือ ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่นที่จะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่ที่ มบส.ทำหน้าที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดี

ผศ.ดร.ลินดา กล่าวว่า อีกทั้งกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนโครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในปี 2565 อ้างอิงถึงพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้แก่คนในชุมชน สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้เชื่อมโยงการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย (พ.ศ. 2560-2579) ขณะที่ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดังนั้น มบส.จึงได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรม เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน(Sustainable Development) ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยและองค์กร/หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญ เพื่อยุติปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สร้างความเท่าเทียมกันในทุกมิติให้เกิดขึ้นในสังคมโลกภายในระยะเวลา 10 ปี จากนี้เป็นต้นไปด้วย

​อธิการบดี มบส. กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมหลักที่ 2 หน่วยงานร่วมกัน ได้แก่1.การจัดทำธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพชุมชน 2. การอนุรักษ์พืชพรรณสมุนไพร 3.การจัดทำระบบฐานข้อมูล โดยใช้ระบบ API และ4.การจัดสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน(Sustainable Development) โดยผู้เชี่ยวชาญจาก The United Nations Development Programme (UNDP) ในประเทศไทย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จะนำมาซึ่งการยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในระดับฐานราก โดยใช้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG การบริหารจัดการข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ การแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการ และสร้างการมีส่วนร่วมโดยเน้นการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่การอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม.

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments