เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ที่ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน และ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความร่วมมือผ่านระบบออนไลน์ ว่า ความร่วมมือวันนี้สอดรับกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งระบุให้ความร่วมมือด้านการศึกษาเป็นสาขาที่จะดำเนินการร่วมกัน และสอดรับกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2565-2569) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่วมกัน

“ปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เป็นผลมาจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ แม้กระทั่งที่เรากำลังเผชิญกับสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  ด้านการศึกษาก็เช่นกันรัฐบาลไทยตระหนักและให้ความสำคัญเสมอว่าการศึกษาจะต้องไม่หยุดนิ่งต่อการพัฒนานักเรียน นักศึกษา เพราะเมื่อเราผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าว นักเรียน นักศึกษาจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศอย่างแท้จริง และในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว นอกจากทักษะทางวิชาชีพแล้ว การพัฒนาทักษะทางภาษาก็สำคัญยิ่งต่อการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างประเทศในประเทศไทย ความร่วมมือนี้เป็นการเพิ่มช่องทางในการพัฒนาและเรียนรู้ทักษะมาตรฐานนานาชาติได้มากขึ้น”รมว.ศึกษาธิการกล่าว

นายเถียน เสวียจวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการด้านภาษาแห่งชาติ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวผ่านระบบออนไลน์ตอนหนึ่งว่า  ภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรม ให้ดำรงอยู่ในสังคมและเป็นสะพานเชื่อมโยงวัฒนธรรม การศึกษาภาษาจีนเป็นส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษานานาชาติ ประเทศจีนให้การสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนและการทำความรู้จักประเทศจีนให้กับคนไทยมาโดยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ คนไทยเรียนภาษาจีนเป็นอันดับ 1 ของโลก และจำนวนครูจีนที่ส่งมาประเทศไทย ก็เป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีโครงการภายใต้การสนับสนุนของสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ให้มีการจัดห้องเรียนขงจื่อแห่งแรกในโลก สถาบันภาษาจีนการศึกษาอบรมด้านเทคนิคอาชีวศึกษา รวมถึงห้องปฏิบัติการภาษาจีน เป็นแห่งแรกของโลกเช่นกัน ซึ่งเป็นผลสำเร็จชิ้นสำคัญในการพัฒนาการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ มั่นใจว่าจะเป็นผลสำเร็จชิ้นสำคัญในการพัฒนาการศึกษาภาษาจีน

“กรอบความร่วมมือฉบับใหม่ระหว่างไทยกับจีน ที่เน้นการยกระดับสมรรถนะครูสอนภาษาจีนท้องถิ่น การพัฒนาการทักษะการทำงานข้ามสายงานของบุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาแหล่งทรัพยากรทางการศึกษา จะกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญและมั่นคงสำหรับการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ผมยินดีที่ความร่วมมือครั้งนี้ขยายการพัฒนาไปถึงในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงพัฒนาการดิจิทัลเพื่อการศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาหลังสถานการณ์โควิด-19ด้วย”นายเถียนกล่าว

สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมมฺธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานคณะกรรมการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล  กล่าวว่า โครงการความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments