เมื่อวันที่  22 มิถุนายน 2565  ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก(Active Learning) ผ่านระบบออนไลน์ทาง OBEC Channel ว่า เนื่องจากโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการผันผวนอย่างฉับพลันด้วยกลไกหลายอย่าง ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการบริหารจัดการ รวมถึงสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาคนให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ขณะที่ประเทศไทยเองทุกภาคส่วนก็มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางการจัดการศึกษา ดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงกำหนดทิศทางการศึกษาโดยมุ่งหวังให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนของชาติ โดยมีพระบรมราโชบายต้องการให้การศึกษามุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1.มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2.มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม 3.มีงานทำ-มีอาชีพ และ 4.เป็นพลเมืองดี

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากพระบรมราโชบายแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็มุ่งที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยเอาคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาแล้ว  ขณะเดียวกันแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาก็มีการกำหนดเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนประเทศ หรือ Big Rock 5 ตัว คือ 1.การสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกช่วงวัยทั้งในและนอกระบบ   2.ส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบActive Learning 3.การปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู  4.อาชีวะเน้นการเรียนด้วยการปฏิบัติ และ 5. การอุดมศึกษามุ่งสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งทั้ง 5 Big Rock มีเป้าหมายเดียวกันคือให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน  อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ  แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ทำให้น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเห็นความสำคัญของการศึกษาของชาติอยู่แล้ว จึงได้กำหนดให้การจัดการเรียนการสอนที่เป็น Active Learning ให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ

ดร.อัมพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการนำพระบรมราโชบาย และ นโยบายรัฐบาล รวมถึงนโยบายของรัฐมนตรีไปสู่การปฏิบัติมากำหนดเป็นจุดเน้นของสพฐ. ใน จุดเน้นที่ 6  ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ที่หลากหลายรูปแบบ (Active Learning) มีการวัดและประเมินผล เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อให้เกิดสมรรถนะกับผู้เรียนทุกระดับ

“วันนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้สถานศึกษาปรับหลักสูตรเพื่อจัดการเรียนการสอนไปให้ถึงสมรรถนะ 5 ตัว ละครูทุกคนต้องปรับการสอน นักเรียนต้องปรับการเรียนรู้ใหม่ รวมถึงต้องมีการปรับวิธีการวัดและประเมินผล และโรงเรียนก็ต้องปรับสภาพแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอน ให้ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ ส่วนเขตพื้นที่การศึกษาก็ต้องเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อพัฒนาครู ผู้บริหาร ร่วมกับมหาวิทยาลัย ขณะที่ สพฐ.ก็มีหน้าที่ในการประเมินผลติดตามความก้าวหน้าของเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนว่ามีการพัฒนาไปตามทิศทางดังกล่าวหรือยัง ซึ่งหากการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ประเทศสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ครู ตลอดจนผู้ปกครอง ไม่เห็นเป้าหมายและวิธีการร่วมกัน จึงหวังว่าทุกคนจะเป็นกลไกที่สำคัญในการเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ไปเปลี่ยนและพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีต้นทุนในการเปลี่ยนประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นหลักสำคัญในการแข่งขันกับนานาประเทศ และเป็นประชากรที่สมบูรณ์ของโลกต่อไป”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments