เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวตอนหนึ่งในการ เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ 4/2565 เรื่อง ข้อมูลทางการศึกษากับการตัดสินใจ : การใช้ประโยชน์จาก PISA และ MICS เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมี ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (ดร.อาร์ตี้ เซจิ) กล่าวต้อนรับ ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางอำภา พรหมวาทย์) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหาร และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม นอกจากนี้มีการบรรยายเรื่อง Global Education Indicator and SDG a benchmarking โดย Programme Specialist UNESCO Asia-Pacific Regional Bureau for Education (Mr.Nyi Nyi Thaung) การบรรยายเรื่อง “การสอบ PISA ให้อะไรกับการศึกษาไทย” โดย รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ดร.พรชัย อินทร์ฉาย)  การบรรยายเรื่อง “MICS-Education Analysis for Global Learning and Equity” ผลการวิเคราะห์ของประเทศไทย โดย ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (ดร.รับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ) ณ โรงแรมสิวสโฮเต็ล กรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการกถ่ายทอดสดผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ Facebook และ Youtube “สภาวะการศึกษาไทย สกศ.” และช่องทาง “OEC News สภาการศึกษา” ร่วมแชร์

ดร.อรรถพล กล่าวว่า คุณภาพการศึกษาของผู้เรียนส่งผลต่อการมีงานทำ ซึ่งผู้ประกอบการต้องการคนที่มีคุณภาพ ตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนปัญหาคุณภาพการศึกษาของประเทศ คือ ผลการทดสอบ PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ ทำการสำรวจผลการเรียนในด้านความรู้และทักษะสำคัญที่ได้รับจากการศึกษาของเยาวชนในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการศึกษาของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย พบว่า สัดส่วนของจำนวนนักเรียนที่มีผลการประเมินไม่ถึงระดับพื้นฐาน ชี้ให้เห็นถึงความไม่พร้อมของประเทศในการเตรียมต้นทุนมนุษย์สำหรับการแข่งขันในอนาคต และความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา

(สกศ. เปรียบเสมือนเข็มทิศทางการศึกษาของประเทศ จัดประชุมทางวิชาการสภาการศึกษาเสวนา หรือ OEC Forum เป็นครั้งที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีทางวิชาการในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับผลการทดสอบทางการศึกษาในระดับนานาชาติ และระบบฐานข้อมูลทางการศึกษา รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค ตัวอย่างความสำเร็จในการจัดการศึกษา ติดตามความเคลื่อนไหวและแนวโน้มทางการศึกษาในระดับนานาชาติ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศต่อไป)เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว

ดร.อาร์ตี้ เซจิ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณาภาพการศึกษา ทำให้การศึกษาสามารถปรับตัว และเปลี่ยนแปลงในวิถีที่เหมาะสม ขอบคุณ สกศ. ที่จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการศึกษาต่อไป

.Mr.Nyi Nyi Thaung ,Programme Specialist UNESCO Asia-Pacific Regional Bureau for Education บรรยายเรื่อง Global Education Indicator and SDG a benchmarking กล่าวถึง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 หรือ SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ โดยสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต SDG 4 ประกอบด้วยเป้าหมาย 7+3 มี 43 ตัวชี้วัด  4 ระดับ ได้แก่ ชาติ ภูมิภาค หัวข้อ และนานาชาติ ซึ่งตัวชี้วัดและการกำหนดเป้าหมายจะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ โดยต้องการให้แต่ละประเทศรับรู้สภาพปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาได้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ กล่าวได้ว่า SDG4 จะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการยกระดับและพัฒนาประเทศ

ดร.พรชัย อินทร์ฉาย ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บรรยายเรื่อง “การสอบ PISA ให้อะไรกับการศึกษาไทย”  กล่าวว่า PISA หรือ Programme for International Student Assessment เริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ข้อค้นพบที่ได้มีดังนี้ 1) ความแตกต่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูง และกลุ่มต่ำมีช่องว่างที่กว้างมาก หากสามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ทำให้ระบบการศึกษามีคุณภาพทั่วถึง ประเทศไทยจะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมนานาชาติได้ 2) นักเรียนกลุ่มช้างเผือก ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มต่ำ แต่สามารถทำคะแนนได้ดี จึงจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมให้มีปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อการเรียนรู้ 3) นักเรียนไทยยังขาดทักษะด้านการอ่านและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล การแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น และ 4) นักเรียนไทยมีกรอบความคิดแบบเติบโต เพียง 43% ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต หากมีการส่งเสริมการสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตให้กับนักเรียนจะช่วยพัฒนาความฉลาดรู้ได้มากขึ้น

ดร.รับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย บรรยายเรื่อง “MICS-EAGLE” ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า MICS  หรือ Multiple Indicator Cluster Surveys คือ โครงการสำรวจพหุดัชนีแบบจัดกลุ่มเพื่อติดตามสถานการณ์ของเด็กและสตรี หรือการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย จัดทำขึ้นทุก ๆ 3 ปี ครั้งล่าสุดคือปี 2019 ส่วน EAGLE (Education Analysis for Global Learning and Equity) คือ การวิเคราะห์ทางด้านการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับทุกคน ตัวอย่างข้อค้นพบที่ได้มีหลายประเด็น เช่น ประเด็นอัตราการเข้าเรียนสุทธิตามระดับการศึกษา พบว่า อัตราการเข้าเรียนสุทธิสูงอยู่ในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ต่ำลงในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย / แนวโน้มอัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย     / มีแค่กลุ่มนักเรียนจากครอบครัวรำ่รวยที่สุด 20% ที่สามารถรักษาระดับอัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย / อัตราการเข้าเรียนของนักเรียนกลุ่มยากจนที่สุด และกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษา เป็นต้น

.นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง “การใช้ประโยชน์จากข้อมูล PISA และ MICS เพื่อการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ” จากวิทยากรชั้นนำ อาทิ นายอาคม ศาณศิปิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ดร.ณัฐา เพชรธนู ผู้อำนวยการศูนย์ PISA สำนักทดสอบทางการศึกษา นายภูมิ เพ็ญตระกูล ผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

.ทั้งนี้ สกศ. จะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้มีคุณภาพต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments