เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566  ที่ โรงแรมแก้วสมัย รีสอร์ท จังหวัดสุราษฎร์สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมพัฒนาระบบกลไกการมีส่วนร่วมสมัชชาการศึกษาระดับภูมิภาค” (Regional Education Assembly) ครั้งที่ 1 ภาคใต้ โดยมี นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีเปิด

­

นายบันดาล กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาชน เป็นแนวคิดสำคัญที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒ฝ2560 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ประเด็นการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และประเด็นการส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบครัว และชุมชนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมัชชาการศึกษาจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงาน กศน. จังหวัด และคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษร์ธานี ร่วมกับ สกศ. จัดการประชุมพัฒนาระบบกลไกการมีส่วนร่วมสมัชชาการศึกษาระดับภูมิภาค” (Regional Education Assembly) ครั้งที่ 1 ภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นเวทีของการมีส่วนร่วมและความร่วมมือในการพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ในระดับภูมิภาค ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน อีกทั้งจะได้นโยบายสาธารณะด้านการศึกษาระดับภูมิภาคของภาคใต้ ซึ่งจะเป็นฉันทมติร่วมกันให้แก่กระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้เชิงพื้นที่ให้มีคุณภาพ เข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. โดยคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ที่มี นายสุรศักดิ์ มุกประดับ เป็นประธาน ลงพื้นที่จัดประชุมพัฒนาระบบกลไกการมีส่วนร่วมสมัชชาสภาการศึกษาระดับภูมิภาคโดยครั้งนี้จัดเป็นแรก ภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือขายด้านการศึกษาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดสมัชชาการศึกษา เน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดไว้ว่าต้องให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาร่วมกัน แต่ละบริบทพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น การจัดทำแผนการศึกษาจึงต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ซึ่งคนในพื้นที่สามารถบอกถึงบริบทจังหวัดตัวเองได้ดีที่สุด ว่ามีความต้องการที่จะพัฒนาการศึกษาอย่างไร เช่น การพัฒนาการศึกษาเพื่อการแข่งขัน เพื่อความมั่นคง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น การสะท้อนข้อมูลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะเป็นข้อมูลที่สำคัญที่ สกศ. จะได้นำไปเป็นแนวทางในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการศึกษา และการจัดทำแผนการศึกษาในอนาคตต่อไป

นายสุรศักดิ์ มุกประดับ ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา กล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนกับการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ภาคใต้ถือว่ามีความพร้อมทางด้านทรัพยากรที่มีจุดเด่น ถ้ากำหนดให้ชัดเจนว่าบริบทพื้นที่ภาคใต้มีจุดเด่นอะไร สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้โดดเด่นได้อย่างไร เมื่อธุรกิจมีความโดดเด่นส่งผลให้คนในพื้นที่สามารถมองเห็นทิศทางในการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยควรศึกษาต้นแบบตัวอย่างของประเทศ หรือภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศเกาหลี มีความโดดเด่นในธุรกิจซีรีส์ และนำมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบ เพื่อนำมากำหนดทิศทางนโยบาย และแนวทางในการจัดการศึกษาในท้องถิ่นต่อไป

ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเวที พัฒนาเครือข่ายและกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนบทบาทการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคที่มีคุณภาพ เข้มแข็ง และยั่งยืน โดยสกศ. ตระหนักว่าความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคีเครือข่ายที่ดำเนินงานในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยกำหนดและผลักดันนโยบายสาธารณะด้านการศึกษาระดับภูมิภาคสู่การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาชนระดับประเทศเพื่อคนทุกภาคส่วนต่อไป

.

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments