เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สหราชอาณาจักร (Rt Hon Gillian keegan)ระดับโลกด้านการศึกษา ประจำปี 2566 (The Education World Forum : EVF 2023) ระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2566 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ภายใต้หัวข้อ “New Beginnings: Nurturing Learning Culture, Building Resilience,moting Sustainability,Stronger, Bolder, Better Education by Design” ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้นำจากทั่วโลกได้ร่วมกันอภิปรายและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา  เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการศึกษา ซึ่งปีนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการในช่วงหลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาในการรับมือกับความท้าทาย ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากการรับฟัง พบว่า ประเทศอังกฤษมีหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นมาก สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ มีการจัดแผนการเรียนเฉพาะบุคคล และมีการประเมินผู้เรียนเป็นระยะ ที่สำคัญมีการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีในการเรียนการสอนเพื่อลดระยะเวลาในการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมถึงมีการส่งเสริมการมีงานทำระหว่างเรียน ทำให้ผู้เรียนมีอาชีพและเกิดสมรรถนะ เป็นการมองเป้าหมายในอนาคต  ซึ่งเมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยกลับพบว่า การจัดการศึกษาของเราไม่ได้มองที่เป้าหมาย แต่เราจัดแบบตายตัวไม่มีความยืดหยุ่น แค่ให้เด็กเรียนจบได้เกรด แผนการเรียนเฉพาะบุคคลก็มีเฉพาะผู้พิการ อีกทั้งยังมุ่งแต่เรื่องเก่า ๆ ตามผู้เรียนมาสู่ระบบ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้ทำข้อตกลงกับทาง UN เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่เรื่องหลัก คือ เคยมองไปข้างหน้าหรือไม่ว่าจะเตรียมเด็กไทยในอีก 10  ข้างหน้าอย่างไร  และอีกสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ คือ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่เราก็คิดเหมือนกันแต่ก็ยังไม่ได้ใส่เข้าไปในบทเรียน

  “จากที่รับฟังมีหลายเรื่องที่ตรงกับสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ซึ่งเราจะต้องนำมาปรับใช้ในการจัดการศึกษา เช่น การใช้ดิจิทัล และไอทีเพื่อการจัดการศึกษาให้มากขึ้น หรือการมองอาชีพที่ต้องการและจำเป็นในอนาคต อย่างระบบป้องกันความปลอดภัยทางเทคโนโลยี เพราะเรื่องไอทีมีการใช้มากขึ้นในประเทศไทยแต่เรื่องของระบบการป้องกันเราไม่มีและยังไม่มีสถาบันไหนส่งเสริมเรื่องนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มเติมในการจัดการเรียนการสอน คือเรื่องการคิดเชิงวิเคราะห์  ความคิดเชิงระบบ ความคิดสร้างสรรค์  การนำเสนอ ทักษะด้านเทคโนโลยี  ภาวะผู้นำ ทักษะการฟัง ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาเด็กไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน” ดร.อรรถพล กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments