เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566  นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.)พร้อมด้วยนายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ.,นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ.,นายกฤตชัย อรุณรัตน์, นายพนัส บุญวัฒนสุนทร, นายนพดล ฤกษ์สง่า, และนางวัลลีย์ ศรีรัตน์ คณะทำงาน รมช.ศธ. ลงตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในการทำงานให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)  ณ ห้องประชุมเทพหัสดิน สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.

โดยนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สกสค.เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ ในการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของครู และยังเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ซึ่งจากการรับฟังรายงาน ทราบว่า ปัจจุบันสกสค. มีสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) กว่า 1,400,000 คน และขณะนี้แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครู เบื้องต้น รมว.ศธ. จะแยกปัญหาหนี้สินของแต่ละคนออกเป็น กลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพื่อเข้าไปช่วยเหลือตามสภาพความเป็นจริง แต่ที่สำคัญคือ จะต้องไม่ให้ครูก่อหนี้ใหม่ โดยจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลการแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี่ยังพบปัญหาว่า ปัจจุบัน จำนวนสมาชิก ช.พ.ค.และ ช.พ.ส. ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะครูรุ่นใหม่ ไม่ให้ความสนใจสมัครเป็นสมาชิก และมีทางเลือกอื่นในการบริหารจัดการรายได้ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในองค์กร  ดังนั้น คงจะต้องเข้าไปดูแลการบริหารจัดการภายในต่าง ๆ รวมถึงเข้าไปดูแลเรื่องปัญหาการทุจริต ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อเรียกความมั่นใจ ให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น เพราะหากปล่อยให้สมาชิกลดลงอย่างต่อเนื่อง จะมีผลกระทบทำให้องค์กรเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ยังต้องเข้าไปดูแล องค์การค้าของสกสค. ซึ่งยังขาดสภาพคล่องในการบริหารจัดการ ดังนั้น คงต้องเข้าไปดูว่า จะทำอย่างไรให้องค์การค้าฯ มีรายได้เพิ่ม เพราะปัจจุบันองค์การค้า ยังถือว่าขาดสภาพคล่อง ดังนั้นอาจต้องเข้าไปดูเรื่องการบริหารจัดการว่า จะทำอย่างไร ให้องค์การค้ามีรายได้ใช้หนี้สกสค. และเท่าที่ทราบองค์การค้าฯ ยังพอมีทรัพย์สิน ที่สามารถสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับองค์การได้ ก็คงต้องเข้าไปดู แต่เรื่องนี้ถือว่า ละเอียดอ่อน เพราะหากพูดว่า จะมีการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน ก็อาจเป็นที่จับตา ดังนั้นการดำเนินการทุกอย่างต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน  ชิดชอบ รมว.ศธ.

ด้าน ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. กล่าวว่า จุดเน้นการขับเคลื่อนงานในปีงบประมาณ 2567 ได้แก่ ยกระดับระบบบริการสุขภาพ : Smart Hospital, การป้องกันและการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู,การจัดสวัสดิการ สวัสดิภาพให้กลุ่มเปราะบาง, เร่งรัดสร้างรายได้ใหม่ ติดตามหนี้สิน เพิ่มสมาชิกใหม่ และ SMART OTEP ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวครู เราดูแล” ขณะเดียวกันก็พูดถึงจุดเด่นของ สกสค. มีการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่มีสมาชิกมากที่สุดประมาณ 1.4 ล้านราย เก่าแก่ที่สุด และจ่ายค่าจัดการศพ ช.พ.ค.+ช.พ.ส. เมื่อทราบว่าสมาชิกเสียชีวิตก่อนก้อนแรก 200,000 บาท และ 100,000 บาท ด้วยความเร็วที่สุด มีสวัสดิการครบวงจร โรงพยาบาลครู หอพัก มีสำนักงานทั่วประเทศ มีผู้แทนเครือข่ายทุกอำเภอ ทำให้บริการได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญของ ศธ.ในการจัดสวัสดิการ สวัสดิภาพ สร้างความมั่นคง และสร้างขวัญกำลังใจให้ครูไทยทั้งประเทศ

ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สกสค.ยังมีประเด็นท้าทายที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ สภาพคล่องเริ่มมีความเสี่ยง ต้องเร่งสร้างรายได้ใหม่ และติดตามหนี้สินที่ค้างอยู่ในวงเงินสนับสนุนพิเศษฯ การเร่งเพิ่มสมาชิกใหม่ ช.พ.ค.- ช.พ.ส. เนื่องจากครูบรรจุใหม่ไม่สนใจเข้าร่วม การสร้างวินัยทางการเงินให้แก่นักศึกษา/ครู/นักเรียน การเร่งขับเคลื่อนไปสู่ Smart OTEP ตามนโยบาย Digital Government การบริหารจัดการทรัพย์สิน/ ลดดอกเบี้ย/ ประกัน และการบริหารจัดการองค์กรที่ยังอยู่ภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments