ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการลงนามบันทึกข้อตกลง ‘แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย’  ระหว่าง 4 กระทรวง  1 องค์การมหาชน  ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย(มท.), กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.), กระทรวงแรงงาน(รง.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพองค์กร (มหาชน)  เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่ดูแลเด็กและเยาวชนกว่า 6.5 ล้านคน ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ภูมิใจในชาติและยึดมั่นสถาบันหลักอย่างมาก ได้กำหนดเป็นนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. ปีงบประมาณ 2567-2568 ซึ่งเมื่อรัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวงได้ลงนาม MOU ช่วงเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 สพฐ.ก็ได้สั่งการมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร สพฐ. ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตพื้นที่ทันที

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับจุดเน้นและนโยบายของ สพฐ. ปีงบประมาณ 2567-2568 นี้ สองข้อแรกเราให้ความสำคัญต่อการสร้างสำนึกความเป็นไทย ภาคภูมิใจในชาติและยึดมั่นสถาบันหลัก โดยข้อที่ 1 การปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ ซึ่งทุกโรงเรียนทั่วประเทศมีกิจกรรมการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 สู่การปฏิบัติ โดยเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันในโรงเรียน และข้อที่ 2 การจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และประชาธิปไตย ที่เน้นให้ผู้เรียนได้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองคุณภาพ รู้จักรากเหง้าตัวตน ประวัติศาสตร์ชาติ ด้วยการใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย เหมาะกับเด็กยุคใหม่ ซึ่งการที่รัฐบาลมีวิสัยทัศน์บูรณาการแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ระหว่าง 4 กระทรวงดังกล่าว เป็นการช่วยลดภาระครู เพราะจะมีภาคีเครือข่ายจากกระทรวงต่างๆ เป็นแนวร่วม สนับสนุนองค์ความรู้ สื่อและแหล่งการเรียนรู้ ช่วยให้สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งตนได้กำชับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา พร้อมเปิดรับการทำงานร่วมกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับนักเรียนเป็นสำคัญ
.
“มั่นใจว่าโรงเรียนทุกแห่งมีการเรียนการสอนที่ปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในชาติและยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ ที่เป็นวิถีปฏิบัติของโรงเรียนอยู่แล้ว โดยเฉพาะรายวิชาประวัติศาสตร์ ที่ สพฐ. ได้ประกาศให้สถานศึกษาจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน กำหนดให้ระดับประถมศึกษา ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี (สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง ในการนี้ ได้มอบหมายให้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ.  และทีมวิชาการพัฒนารูปแบบแนวทางการปลูกฝังจิตสำนึกรักชาติ และได้สั่งการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เป็นพี่เลี้ยงแก่โรงเรียน ดำเนินการทบทวนรูปแบบ วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ทำอยู่ว่าเป็นอย่างไร ให้ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning  เพื่อนักเรียนได้รู้จักรากเหง้า เข้าใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและประเทศชาติในแง่มุมต่างๆ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้มีการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์ เชิงประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ท่องจำตามหนังสือ คลิปวิดีโอ หรือจำตามที่ครูบอกเล่า เพื่อนักเรียนจะได้เข้าใจและเห็นบทเรียนจากเรื่องราวในอดีต เชื่อมโยงความเป็นมาเป็นไปสู่สังคมปัจจุบัน เห็นแนวทางภูมิปัญญาที่เป็น Soft Power เห็นคุณค่าอดีตที่ต่อยอดสู่อนาคต ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และหน้าที่พลเมืองได้” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments