เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการศึกษา ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)อุบลราชธานี เขต 2 สพป.อุบลราชธานี เขต3 สพป.อุบลราชธานี เขต 5 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.และ 1 ธ.ค.2566 ว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายด้านการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ผ่านระบบออฟไลน์ และออนไลน์ ไปทั่วประเทศ ซึ่งบางประเด็นอาจจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการจึงได้ฝากความปรารถนาดีและความห่วงใยมาให้ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีทุกคนอีกครั้ง ว่า “เรียนดี มีความสุข”นั้น ความสุขไม่ได้มีเฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ต้องรวมไปถึงนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เป็นความสุขร่วมกัน เมื่อมีความสุขแล้ว เรียนดีก็จะเกิดขึ้นตามมา ทำให้ “เรียนดี มีความสุข” เป็นมอตโต้ที่สั้นและเข้าใจง่าย ขณะที่จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ก็คือ รัฐมนตรี ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ถึงแม้จะมีรัฐมนตรีช่วย มาช่วย ก็ไม่สามารถทำให้งานสำเร็จได้ ถ้าไม่มีกลไก หรือบุคลากรที่สำคัญก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นรัฐมนตรีต้องจับมือกับบุคลากรทุกคนขับเคลื่อนการทำงานไปด้วยกัน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)โดยตรง นอกจากเรื่องการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การเพิ่มช่องทางทำวิทยฐานะ การดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครู โดยเฉพาะเรื่องทำแฟลตครู เรื่องโรงเรียนคุณภาพ แล้ว ตนได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดทำระบบวัดผลจัดระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ได้เด็กที่มีความสามารถเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลา ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย หรือ ฟื้นการสอบเทียบกลับมา

“รมว.ศึกษาธิการ ย้ำกับผมเสมอว่า “อย่าขังคนเก่งไว้ในห้องเรียน”เด็กที่มีความเป็นเลิศต้องปล่อยให้ไป  วันนี้มีน้อง ๆ ที่ต้องเข้าเรียนในห้องเรียนเพื่อให้ครบตามกำหนดเวลาเรียน แต่จริงๆ แล้วเขาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะไปไกลกว่าเรียนในห้องเรียนเสียอีก  เพราะฉะนั้นการประหยัดเวลาเรียนก็หมายถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ใน 1 ปี ถ้าลดระยะเวลาเรียนลงได้  ก็จะสามารถประหยัดค่าเทอม ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของผู้ปกครองได้มหาศาล และการเรียนจบเร็วก็สามารถออกมาทำงานหารายได้ได้เร็วขึ้น ดังนั้นถ้าเด็กสามารถจบได้ก่อนก็อย่ารั้งไว้  และสุดท้ายก็ส่งผลถึงการประหยัดงบประมาณได้อย่างแน่นอน เรื่องนี้จึงเป็นอีกนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ”นายสุรศักดิ์กล่าว

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิชย์ รองเลขาธิการ กพฐ.ตั้งคณะทำงาน เพื่อนำระเบียบการวัดและประเมินผลการศึกษาของผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศมาพิจารณาปรับปรุง เพื่อให้เด็กที่มีความสามารถเทียบโอนได้ เช่น ปกตินักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.4-6)จะต้องได้หน่วยกิตตลอดหลักสูตร 77 หน่วยกิต โดยเป็นรายวิชาพื้นฐาน 41 หน่วยกิต และรายวิชาเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต กำหนดเวลาเรียนรวม  3 ปี ไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง จึงจะจบหลักสูตรชั้น ม.ปลาย ก็จะต้องไปแก้ตรงนี้ก่อน ซึ่งรมว.ศึกษาธิการบอกว่าเราจะต้องไม่ขังคนเก่งไว้ในห้อง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นช่องทางพิเศษให้เขาสอบเทียบได้ ทั้งนี้ก็ต้องมีความรู้ความสามารถเท่ากับเด็กที่จบ ม.6 ด้วย  ส่วนเด็กทั่วไปก็ต้องเรียน 3 ปี

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments