จากกรณี โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA)ที่ ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) เพื่อประเมินนักเรียนอายุ 15 ปีในประเทศที่เข้าร่วม ทุก ๆ 3 ปี โดยในปีนี้มีประเทศที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 81 ประเทศ ซึ่งผลการประเมินโดยเฉลี่ยในภาพรวมของปี 2022 พบว่าประสิทธิภาพของสมรรถนะเด็กในกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจ OECD ลดลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนนักเรียนไทย พบว่าทุกทักษะทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี นั้น

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2566  นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล  รัฐมนตรีช่วยว่ากระศึกษาธิการ(รมช.ศึกษาธิการ) เป็นประธานแถลงข่าวผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือPISA  โดยมี รศ.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เข้าร่วม ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การสอบPISA จัดโดยองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เป็นการวัดผลความฉลาดรู้ หรือLiteracy ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์  สำหรับผลPISA ที่ออกครั้งนี้เป็นการวัดผลเมื่อปี 2022 และประกาศผลในปี 2023 ซึ่งผลคะแนนค่อนข้างต่ำ ซึ่งพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เชิญสสวท. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม มาหารือเรื่องนี้ ว่า เกิดอะไรขึ้นกับผลคะแนน ทั้งนี้จากการรายงานเบื้องต้น  ที่ทำให้คะแนนประเมินPISA ต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด 2019 รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความการเข้าถึงเทคโนโลยีที่อาจจะยังไม่ทั่วถึง เหมือนประเทศอื่น ๆ ที่ส่งผลให้คะแนนPISA ต่ำลง ซึ่งตนก็ยอมรับว่า ทุกอย่างเป็นปัญหา และสะท้อนผลการศึกษาของประเทศ และ รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มข้น และกำชับว่า ในการสอบครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในปี 2025 ผลประเมิน PISA จะต้องอยู่ในลำดับที่ดีขึ้น

“เรื่องนี้ นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทราบเรื่องดังกล่าว และมีความห่วงใย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประเมินPISA หรือคะแนนภาษาอังกฤษ โดยได้กำชับมายังศธ. ให้ช่วยดูแลเรื่องดังกล่าว ดังนั้นศธ. จึงตั้งคณะทำงาน โดยมี ดร.สุเทพ  แก่งสันเทียะ ปลัดศธ. เป็นประธาน ร่วมด้วย สสวท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อหาข้อสรุปของผลประเมินที่ต่ำลง และหาแนวทางแก้ปัญหา รวมทั้งการพัฒนาผลประเมินPISA การอ่าน  คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยตั้งเป้าให้ผลการทดสอบทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นในการประเมินรอบต่อไป ซึ่งตั้งเป้าว่าจะต้องไม่น้อยกว่ารอบปี2018 ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ 59 และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน

รศ.ธีระเดช กล่าวว่า PISA ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยได้ทำการประเมินทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน  โดยการประเมิน PISA 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ  สำหรับในประเทศไทยสสวท. ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ  ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565  ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน  โดยนักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านทางแฟลชไดรฟ์  นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย

สำหรับผลการประเมิน PISA 2022 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และญี่ปุ่น  ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน  ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ ผลการประเมินของประเทศที่ได้คะแนนด้านคณิตศาสตร์สูงสุดสิบอันดับแรก และผลการประเมินของประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นดังนี้ สิงคโปร์  มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี เอสโตเนีย สวิตเซอร์แลนด์  แคนาดา และเนเธอร์แลนด์

ผลการประเมิน PISA 2022 ของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งทุกวิชามีผลคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของOECD โดยคะแนนเฉลี่ย ด้านคณิตศาสตร์ อยู่ที่ 472 ด้านวิทยาศาสตร์ 485  การอ่าน 476

ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน  ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ  ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง  ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ

“เมื่อวิเคราะห์ตามสังกัดการศึกษาและกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ พบว่า กลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุดห้าอันดับแรก  ส่วนกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD  สำหรับกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD”ผอ.สสวท.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จากการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยระหว่างนักเรียนกลุ่มสูง (มีคะแนนตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ขึ้นไป) กับนักเรียนกลุ่มต่ำ (มีคะแนนต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10) ของประเทศไทยในทั้งสามด้าน พบว่า นักเรียนทั้งสองกลุ่มมีคะแนนเฉลี่ยในแต่ละด้านแตกต่างกันประมาณ 200 คะแนน และเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ความแตกต่างของคะแนนด้านการอ่านและด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้มีมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนด้านคณิตศาสตร์มีช่องว่างของคะแนนที่แคบลง เนื่องจากนักเรียนกลุ่มสูงมีคะแนนเฉลี่ยลดลงมากกว่าของนักเรียนกลุ่มต่ำ สำหรับนักเรียนกลุ่มช้างเผือก ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) แต่มีคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มช้างเผือกอยู่ 15% ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 10%  จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่ด้อยเปรียบทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมก็สามารถมีผลการประเมินที่ดีได้

นอกจาก PISA จะรายงานผลการประเมินในรูปของคะแนนเฉลี่ยแล้ว ยังรายงานผลเป็นระดับความสามารถในแต่ละด้านซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับ โดยที่ระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้ ผลการประเมินครั้งนี้ พบว่า มีนักเรียนไทยที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 32% ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 69%  ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลการประเมินสูง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า ญี่ปุ่น จีนไทเป และเอสโตเนีย พบว่า มีนักเรียนมากกว่า 85% ที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป  สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน ประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 47% และ 35% ตามลำดับ ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 76% และ 74% ตามลำดับ

ในภาพรวมของผลการประเมิน PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  สำหรับระบบการศึกษาไทยยังมีช่องว่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูงกับนักเรียนกลุ่มต่ำที่กว้างมาก แม้ในด้านคณิตศาสตร์จะมีช่องว่างดังกล่าวที่แคบลง แต่เป็นผลมาจากนักเรียนกลุ่มสูงมีการลดลงของคะแนนที่มากกว่านักเรียนกลุ่มต่ำ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments