เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ตนและนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยคณะเข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาและทักษะแห่งอนาคต 2023 ครั้งที่ 5 (5th Global Forum of Future of Education and Skills 2030) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2566 ณ รัฐสภา ประเทศโรมาเนีย โดย OECD และกระทรวงศึกษาธิการโรมาเนียเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการพิจารณาแนวทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์การศึกษาที่สำคัญจากผู้นำด้านการศึกษาทั่วโลก และจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับในหลากหลายแง่มุม ผ่านประเด็นท้าทายต่อการพัฒนาการศึกษาและทักษะในอนาคต อันได้แก่ การสร้างความตระหนักร่วมกันในระดับโลกที่จะต้องพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาคน เป็นการศึกษาเพื่อประชากรโลก มีสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นการวางรากฐานการศึกษาและทักษะ เพื่ออนาคต ซึ่งหมายถึงการศึกษาที่ต้องใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล ทั้งการบริหารจัดการ หลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผล ความท้าทายด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งสถาบันการศึกษาต้องปรับตัว ผลิตและพัฒนาคนให้มีความพร้อมในฐานะผู้ใช้ ผู้ทำงาน และผู้พัฒนา ตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร พัฒนาครู ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนที่ต้องบูรการหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน และต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคประกอบการมาการดำเนินการดังกล่าว ทุกประเทศจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์และกลไกในการดำเนินงาน และความสำคัญในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการประชุมระดับโลกด้านการศึกษาและทักษะ ครั้งที่ 5 เป็นเวทีที่ทุกประเทศได้มีโอกาสพบและหารือ เกี่ยวกับการศึกษาในปัจจุบัน และในอนาคต การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษา และนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับการปรับตัวในการพัฒนาการศึกษาในอนาคต

 

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ทั้งนี้ สภาการศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนแนวคิดทางการศึกษา ประเด็นความเชื่อมั่นของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Ai ในการสนับสนุนการเรียนการสอนในสถานศึกษา การให้ความสำคัญกับศีลธรรมและจริยธรรม การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI อย่างเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนการใช้ AVATAR ที่เป็นตัวแทนของตัวตนมนุษย์ในโลกเสมือนจริง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในเชื่อมโยงการจัดการเรียนการสอนระหว่างครูและผู้เรียน อย่างไรก็ตามประเด็นที่ผู้แทนประเทศต่างๆ ให้ความสนใจจากการเข้าร่วมการหารือในระดับกลุ่มคือการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI, เทคโนโลยี blockchain และ Big data กับระบบการศึกษา และกระบวนการผลิตและพัฒนาครู การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อย่างมีคุณธรรมและสร้างสรรค์ ตลอดจนการบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรการศึกษา รวมทั้งการจัดทำแนวทางในการประเมินผล

 

“สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษาในมิติต่างๆ เป็นเรื่องที่น่าสนใจและท้าทายของการศึกษาของทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งสอดรับกับแนวทางนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาเรียนการสอนมากขึ้น การสร้างแพลตฟอร์มที่ไม่เพียงสนับสนุนให้ครูได้แนวทางการสอนใหม่ๆ ยังเป็นการลดภาระในการจัดเตรียมเอกสารมากมายในการจัดการเรียนการสอนอีกด้วย รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและนักเรียนถึงคุณภาพการศึกษาที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์มาสนับสนุนการเรียนรู้ และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน การสนับสนุนให้มีการสำรวจความเข้าใจ และความต้องการในการเข้าถึงการเข้าใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องทำอันดับแรกๆ”ดร.อรรถพล กล่าว

นายยศพล กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้เข้าร่วมหารือกับสถานประกอบการและสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Automation intelligence (AI) ในการสนับสนุนการจัดการศึกษา ในมิติต่างๆ รวมไปถึงการใช้ AI เพื่อการจัดการศึกษาอย่างเสมอภาคทั่วถึง และเท่าเทียม ในส่วนของ National University of Science and Technology ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา    ที่มีความโดดเด่นในด้านการวิจัยและนวัตกรรมโดยร่วมกับสถานประกอบการในการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการจะเป็นผู้สนับสนุนแหล่งเงินทุนในการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อการสร้างความเป็นเลิศในด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่นอกจากจะได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้วสถานประกอบการยังได้บุคลากรที่จบการศึกษามีสมรรถนะและคุณภาพตรงตามที่สถานประกอบการต้องการอีกด้วย ส่วนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถานประกอบการชั้นนำของโลกอย่าง Ui Path ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ให้บริการในด้าน AI และระบบอัตโนมัติเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงการสร้าง AI เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลตามความคิดของมนุษย์อีกด้วย ในด้านการสนับสนุนการศึกษา Ui path ถือเป็นสถานประกอบการที่ให้การสนับสนุนด้านการศึกษากับหลายประเทศ และยังมีมูลนิธิที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาเพื่อการเข้าถึงการศึกษาให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลทั่วโลกอีกด้วย

“จากความผันผวนของโลกในปัจจุบัน และจากสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ ทำให้ทุกประเทศหันมาให้ความสนใจต่อการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนในหลายๆ มิติ สอศ.และสภาการศึกษา ได้มีการหารือถึงแนวทางในการทำงานเชื่อมโยงกันในระดับนโยบายและปฏิบัติร่วมกัน โดย สภาการศึกษา จะดำเนินการในเชิงวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถนำมาสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา และการศึกษาของประเทศ สอศ.ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนการทำงานในภาพของกระทรวงศึกษาธิการให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการอาชีวศึกษา และพร้อมที่จะผลิตกำลังคนที่มีทั้งสมรรถนะวิชาชีพและทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในระดับสูง ต่อไป”นายยศพล กล่าว

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments