เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ให้สัมภาษณ์กรณีการก่อเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งพบว่าระยะหลังแนวโน้มผู้ก่อเหตุจะเป็นกลุ่มเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี เพิ่มมากขึ้น ว่า ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ช่วง  2 ปีที่ผ่านมา  เด็กต้องเรียนออนไลน์ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หายไป ส่วนหนึ่งไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ อีกกลุ่มหนึ่งก็เข้าไปอยู่ในหลืบของโลกออนไลน์ไม่ยอมออกมา ผลที่ตามมาคือ การขาดการปฏิสัมพันธ์ การจัดการข้อขัดแย้งจึงเปลี่ยนไป เด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และอาวุธก็หาง่ายขึ้น รวมถึงเกิดการเรียนรู้ผิดไป เพราะอยู่ในโลกออนไลน์มากเกินไปหรืออยู่ในเกมมากเกินไป จนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทำให้เด็กหลุดร่อง ความคิดหลุด แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ซึ่งสภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะเด็กเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็มีให้เห็นอยู่

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวในฐานะที่ตนทำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยในเด็กมานาน คิดว่า วิธีการแก้ปัญหา คือ ต้องให้เด็กทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะแบบออนไซด์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องสามปี  เพื่อให้เด็กได้เกิดปฏิสัมพันธ์ และกระบวนการคิด โดยเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้หรือกระบวนการส่งเสริมทักษะชีวิตในมิติความปลอดภัย แล้วให้ตกผลึกทางทักษะชีวิต ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานี้ไม่ต้องใช้เงิน เพราะเป็นเรื่องของการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมเพิ่มเติมการสร้างทักษะชีวิตที่จะแทรกเข้าไปในการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น โดยตนได้หารือเบื้องต้นกับ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.ไปบ้างแล้ว

“ในการจัดกิจกรรมให้เด็ก นั้น สิ่งที่ต้องเน้น คือ เด็กต้องรู้จักท้องถิ่นลึก รักประเทศไทย และอยู่ได้ในโลก โดย รู้จักท้องถิ่นลึกผลลัพธ์ที่ได้คือเด็กจะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีองค์ความรู้ที่เป็นซอฟพาวเวอร์ของท้องถิ่นที่ใช้ต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ ขณะที่รักประเทศไทย ผลคือจะไม่ทะเลาะกันเพราะมีแกนคิดอันเดียวกัน ส่งความรักประเทศไทยจะทำให้ความข้อขัดแย้งในสังคมไทยลดลง ส่วนอยู่ได้ในโลกคือความเป็นผู้ประกอบการ(entrepreneur)  มีความรู้ทางภาษา มีหลักคิด วิธีการจัดการชีวิตบนโลกออนไลน์ สามารถทำกิจกรรมค้าระหว่างประเทศได้ มีเพื่อนนานาชาติ เปิดโลกทัศน์และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนบนโลกได้”ดร.ธีร์กล่าวและว่า จากการพูดคุยกับนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ทราบว่า ตอนนี้ที่น่าเป็นห่วงสุดในโลกโซเชียลก็คือเรื่องของการหลอกให้เงินเด็กประมาณ 300 บาท เปิดบัญชีม้าโดยล่อว่ามีรายได้พิเศษแค่กดไลค์กดแชร์ก็ได้เงินแล้ว  ก็อยากจะขอเตือนเด็ก ๆ ว่าการทำงานแบบนี้ไม่มีจริงในโลก และตอนนี้มีปัญหาเด็กโดนดำเนินคดีบัญชีม้าจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะอายุระหว่าง 12 ถึง 14 ปี เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาก็คงต้องแก้ด้วยการจัดกิจกรรมที่จะตกผลึกทักษะชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะทำได้ในลักษณะของการเขียนเรียงความ การโต้วาที ยอวาที หรือ วิชาลูกเสือหรือวิชาอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์เพื่อเด็กจะได้ใช้ชีวิตเป็นและรู้จักการควบคุมอารมณ์ด้วย”รองเลขาธิการกพฐ.กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments