เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนและคณะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม UNESCO-Huawei Funds-in-Trust on Technology-enabled Open Schools for All และนำเสนอนโยบายการบูรณาการด้านการเชื่อมต่อ เนื้อหาการเรียนรู้ และสมรรถนะด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ โดยแต่ละประเทศได้นำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาโดยใช้ดิจิทัล ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ก็ได้นำเสนอในเรื่องของนโยบายเรียนดี มีความสุข โดยเฉพาะกรอบ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐฒนตรีว่าการศธ. ให้ไว้คือนโยบายในการเป็นสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการศึกษา ซึ่งหลายประเทศให้ความสนใจเพราะสอดคล้องกับแนวทาง Happiness Learningของยูเนสโก ขณะเดียวกันยังหารือ ประสานความร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ย ซึ่งได้สนับสนุนงบประมาณให้ยูเนสโก นำมาใช้ในการจัดสรรให้ประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ส่งเสริมการใช้ดิจิทัล ในการเรียนการสอน โดยในส่วนของประเทศไทย เน้นไปที่โรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ใน 2 โครงการใหญ่ ๆ โครงการละประมาณ 1 แสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐ คือ การพัฒนาครู และการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จะไปสนับสนุนการเรียนการสอนดิจิทัล ซึ่งหารือกันว่า จะนำไปใช้กับโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นหลัก

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนความคืบหน้าการจัดทำรายละเอียด เสนอให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศยกย่อง “พิธีไหว้ครู” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาตินั้น ได้เสนอเรื่องดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(กวช.) แล้ว ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ และรอการขับเคลื่อนในลำดับถัดไป ซึ่งปี 2567 จะเป็นเรื่องของต้มยำกุ้ง มวยไทย ชุดไทยพระราชนิยม จากนั้นจึงจะต่อด้วยพิธีไหว้ครูตามลำดับ โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องการขับเคลื่อนระดับนานาชาติ

“อย่างไรก็ตามเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศธ.ได้ทำหนังสือไปยังสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ ให้รณรงค์เรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมการไหว้ครู ใน 2 มิติ คือ การให้ความรู้กับนักเรียนให้เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมนี้ว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร โดยพิธีไหว้ครู เป็นเรื่องของการฝากตัวเป็นศิษย์ก่อนเข้าเรียน ถือเป็นประเพณีที่ดีงามที่ทำมาแต่ดั่งเดิมก่อนที่จะเปิดภาคเรียนโดยใช้พานธูป เทียนแพ ใช้ในการบูชาครู อีกส่วนคือ ขอให้สถานศึกษา จัดสถานที่ให้เอื้ออำนวยต่อการจัดพิธีไหว้ครู ซึ่งจะมีเรื่องข้าวตอก ดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับการไหว้ครู ได้แก่  ดอกมะเขือ ดอกเข็ม หญ้าแพรก ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีความหมายอยู่ ดังนั้นหากสถานศึกษาใดพอจะมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ดังกล่าวก็ขอให้ปลูก เพื่อให้เด็กสามารถนำมาใช้ประกอบในการทำพานไหว้ครูได้สะดวกมากขึ้น ตรงนี้ถือเป็นการรณรงค์อนุรักษ์วัฒนธรรมที่สวยงาม ที่ถูกต้องตามประเพณี”ดร.สุเทพ กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments