เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 13/2568 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รายงานการอบรมสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ระดับเขตพื้นที่ จำนวน 245 เขตพื้นที่ มีกลุ่มเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 445,624 คน ลงทะเบียนแล้วจำนวน 437,567 คน อบรมเสร็จแล้ว จำนวน 339,121 คน ส่วนการสร้างคลังข้อสอบในระดับเขตพื้นที่ เพื่อต่อยอดการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบตามแนว PISA นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) นำเข้าข้อมูลคลังข้อสอบ ในทันภายในวันที่ 16 พฤษภาคม เมื่อแล้วเสร็จทุกเขตพื้นที่สามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ ตามแนวทางเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime และได้มีการเสนอตัวอย่างการจัดทำคลังข้อสอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)กระบี่ โดยมีการจำแนกเป็น ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ข้อสอบเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดในหลักสูตร นำไปใช้ในการเรียนได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมปิดเทอมใหญ่ เด็กไทย ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ เชิญชวนเด็กร่วมเล่นเกม “สนุกคิด ปิดเทอมใหญ่” โดยให้นักเรียนร่วมเล่นเกมตอบคำถาม PISA มีนักเรียนเข้าร่วมในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ 258 คน โดยจะจับฉลากนักเรียนที่ตอบถูกทุกข้อ เพื่อรับรางวัลจาก รมว.ศึกษาธิการ สัปดาห์ละ 5 รางวัล ส่วน “กิจกรรมการเพิ่มศักยภาพโดยโรงเรียนพี่เลี้ยง” ดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยใน 5 จังหวัด 5 ภูมิภาค (มุกดาหาร บุรีรัมย์ ปทุมธานี เชียงราย และตรัง) โดยโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ เป็นโรงเรียนพี่เลี้ยง จัดการอบรมสร้างความรู้ เทคนิคการสอน เติมเต็ม และเตรียมความพร้อมระบบการสอน ให้แก่ครูผู้สอนชั้น ม.3 และ ม.4 ของโรงเรียนเครือข่าย นอกจากนี้ได้มีการวิเคราะห์แนวทางการส่งเสริม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยสุ่มโรงเรียน 137 แห่ง วิเคราะห์จากการทดลองสอบ Pre PISA และวิเคราะห์จากผล O-NET ม.3 ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และโรงเรียนนำสู่การต่อยอด โดยจะต่อยอด นำผลการวิเคราะห์รายคน มาพัฒนาอย่างเข้ม ในภาคเรียนที่ 1/2568 ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า เวลามีจำกัดในการทำ นักเรียนยังบริหารจัดการเวลาไม่ได้, นักเรียนไม่เข้าใจคำถามบางคำถาม จึงทำข้อสอบไม่ได้, การหาตัวอักษร สัญลักษณ์ต่างๆ บนแป้นคีย์บอร์ดช้า, การเข้าออกระบบค่อนข้างติดขัด นักเรียนเสียสมาธิ, บางข้อเนื้อหาไม่สัมพันธ์กับเนื้อหาในระดับชั้น ม.2
“สภาการศึกษา(สกศ.) ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมพหุปัญญาและการจัดการศึกษา สำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล 4 ข้อ ได้แก่ 1. ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่นต่อความต้องการ และศักยภาพของผู้เรียนที่หลากหลาย 2. พัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (Gifted and Talent) และระบบติดตามตัวเด็ก ติดตาม การพัฒนารายคน 3. พัฒนาครูสำหรับเด็ก Gifted และ 4. ส่งเสริมให้มีระบบจับคู่งาน (Job Matching) ระหว่างเด็ก Gifted และสถานประกอบการ ให้มีงานที่เหมาะสม แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยตัวอย่างนโยบายที่น่าสนใจในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่โรงเรียนประถมศึกษา ส่งเสริมทักษะที่เป็นจุดแข็งและนักเรียนมีความสนใจ”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ยังได้รายงานว่า จะมีการออกหน่วยดูแลสุขภาพในแต่ละจังหวัด ในเดือน พฤษภาคม 2568 โดยจะมีการตรวจคัดกรองต้อกระจก, ฉัดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ด้วย