เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2568 ดร.ธนู ขวัญเดช เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)เปิดเผยกรณี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)มีแนวนโยบายการลดภาระครู และการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ เพื่อลดปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะวิทยฐานะนอกจากจะเป็นตำแหน่งที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในวิชาชีพแล้ว ยังทำให้มีรายได้เพิ่มช่วยลดค่าของชีพ แต่อาจจะต้องปรับหลักเกณฑ์การประเมินให้ตอบโจทย์ผู้ที่ถูกประเมิน เพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้ทุกคน ให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ โดยให้แยกการประเมินให้ชัดเจนแต่ละระดับ ว่า จากแนวความคิดของ รมว.ศึกษาธิการ ดังกล่าว สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้นำมาเข้าที่ประชุมผู้บริหารและได้ข้อสรุปว่า เมื่อก่อนในระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัล(DPA)ของสำนักงาน ก.ค.ศ.กรรมการประเมินจะมาจากการรับสมัครตามคุณสมบัติแล้วมาวางในระบบ ซึ่งระบบจะวนสุ่มให้กรรมการเข้าไปประเมินมาอ่านผลงาน ดังนั้นในการประเมินครั้งต่อไปจะให้ส่วนราชการเสนอชื่อกรรมการประเมินมา เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ก็เสนอรายชื่อกรรมการประเมินทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ก็เสนอรายชื่อกรรมการประเมินมา ที่ สำนักงาน ก.ค.ศ.เพื่อมาลงถังใครถังมัน กรรมการประเมินระดับประถมศึกษาก็อ่านเฉพาะระดับประถมศึกษา กรรมการประเมินระดับมัธยมศึกษาก็อ่านเฉพาะระดับมัธยมศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้กรรมการที่เลือกมาต้องเข้าใจการทำงานของแต่ละระดับด้วย
เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับอัตราครูเกินเกณฑ์ กว่า 600 อัตรา เป็นมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้จัดสรรในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2)บรรจุในโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ทั้ง 11 แห่ง ก่อน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการบรรจุอัตราดังกล่าว ก.ค.ศ.จึงได้มาดำเนินการโดยขณะนี้ผ่านอนุกรรมการวิสามัญที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ. )ในวันที่ 31 กรกฎาคม นี้ ที่มี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน เพื่อให้มีมติเห็นชอบ ให้จัดสรรอัตราตำแหน่งดังกล่าวนี้ต่อไป