เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 2/2564 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการกำหนดค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่เหมาะสมสำหรับการจัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) พบว่า โรงเรียนเอกชนมีนักเรียนพิการทั้งหมด 4,476 คน ในปีการศึกษา 2562 สช.จ่ายเงินอุดหนุนรายบุคคลให้นักเรียนพิการ จำนวน 100 ล้านบาทต่อปี ถ้ามีการปรับจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากเดิม 35% ก็จะประมาณ 35 ล้านบาท ส่วนวิทยาลัยอาชีวะเอกชน จากข้อมูลมีนักเรียนพิการ 1,718 คน แต่ละปีจะจ่ายเงินอุดหนุนรายบุคคลประมาณ 75 ล้านบาท ถ้าปรับเงินอุดหนุน จะจ่ายเงินเพิ่มเพียง 25 ล้านบาท
“สช.จะนำเรื่องนี้เสนอให้สำนักงบประมาณ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งไม่เพียงนักเรียนพิการในสังกัด สช.เท่านั้น ดิฉันยังได้มอบหมายให้ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันการเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับนักเรียนพิการในสังกัดอื่นๆ ด้วย เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำต่อไป”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ตามที่สช. ได้ส่งหนังสือแจ้งให้โรงเรียนเอกชนคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นให้กับผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นั้น สช.ได้รับรายงานว่ามีโรงเรียนเอกชนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาคืนให้ผู้ปกครอง จำนวน 524 แห่ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 561,853,934 บาท ซึ่งส่วนใหญ่โรงเรียนจะคืนเงินค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารเสริมนม ค่าอาหารว่าง ค่ารถรับส่ง ค่าไปทัศนศึกษา เป็นต้น