เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2564 ดร.ตวง  อันทะไชย สมาชิกวุฒิสภา  เปิดเผยว่า จากข่าวการให้ติวเตอร์มาสอนครูแม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวนัก แต่เมื่อฝ่ายบริหารตัดสินใจดำเนินการต่อ ถ้าหากมีปัญหาก็ควรที่จะน้อมยอมรับและถอยบ้างเพื่อให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าได้ และควรฟังความเห็นจากผู้ปฏิบัติด้วยว่าเขามองอย่างไร

ดร.ตวง กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะมีเหตุและผลทั้งในทางวิชาการและข้อเท็จจริงมาอธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้ 1 .  ครูทุกทุกคนล้วนผ่านหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนและฝึกอบรมพัฒนาให้เป็นครูอย่างมืออาชีพมาแล้วจากสถาบันการผลิตครูทั่วประเทศ จบมาแล้วก็ต้องสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครู ก่อนจะเป็นครูต้องได้รับอนุญาตเพื่อมาประกอบวิชาชีพครูตามพระราชบัญญัติครู นั่นแสดงว่าเขาผ่านกระบวนการคัดกรองมาอย่างเข้มงวดแล้ว ไม่มีมีใครที่เก่งและเชี่ยวชาญเท่ากับคุณครูอีกแล้ว แล้วติวเตอร์ที่ว่านั้นมีใบอนุญาตในการเป็นติวเตอร์หรือไม่ หลายคนเป็นลูกศิษย์ของคุณครูอยู่ด้วย เพียงเก่งวิธีท่องจำเท่านั้นจะมาฝึกอบรมครูหรือ

  1. ครูวันนี้ เป็นครูยุคโควิด- 19 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งกระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดผลประเมิน ประสบการณ์ที่ครูผ่านมาด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูทั้งในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 มีความสุดยอด มหัศจรรย์ มีความสลับซับซ้อน ผ่านความทุกข์ ความสุข ผ่านวิบากกรรม ผ่านความล้มเหลวและความสำเร็จมาแล้วด้วยตัวครูเอง คนอื่นที่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติแบบครูจะเข้าใจได้อย่างไรว่าการไปเยี่ยมผู้เรียนที่บ้านนั้นมันเสี่ยงแค่ไหน มันเป็นภาระแค่ไหน แต่ครูไม่เคยบ่นสักคำ เสมือนหนึ่งเป็นการวิจัยที่ใช้ชีวิตครูเป็นกระบวนการ คนอื่นที่เป็นติวเตอรหรืออยู่ในเฉพาะหน้าจอจะรู้เรื่อง เข้าใจในจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูได้อย่างไร จะมีฝึกอบรมครูด้วยชุดความรู้ใด
  2. กระบวนการจัดการเรียนการสอนหรือหลักสูตรหรือมวลประสบการณ์นั้นในทางวิชาการมันคือกระบวนการพัฒนาผู้เรียนให้เจริญงอกงาม ทางกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา จริงอยู่ด้านสติปัญญาติวเตอร์อาจจะช่วยได้บ้างนิดหน่อย นิดเดียวจริงๆ  แต่การพัฒนากาย อารมณ์ สังคม ติวเตอร์ไม่อาจจะช่วยครูได้เพราะมันคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนโดยมีหลักสูตรเป็นเครื่องมือ  ครูเท่านั้นที่จะเข้าใจในความเป็นครู

“ผมอาจสรุปได้ว่าครูเท่านั้นที่เข้าใจในครู คนเรียนครูเท่านั้นจะเข้าใจกระบวนการพัฒนาการของผู้เรียนทั้งทางกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา คนเรียนรู้ ครูเท่านั้นจะเข้าใจจิตวิทยาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย หากทำไปแล้ว มีคนท้วงติงต้องรับฟัง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวิชาชีพครูเขาเตือน พวกเขาคือครูตลอดชีวิต ไม่มีวาระ ทุกคนต่างมาแล้วจากไป แต่ครูจะอยู่กับวิชาชีพตราบนิรันดร์ ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น”ดร.ตวง กล่าว

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments