เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 13 กันยายน 2564 ที่กระทรวงศึกษาธิการ มีการแถลงข่าว “เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 สถานศึกษาปลอดภัย เด็กได้รับวัคซีนถ้วนหน้า” โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ  เป็นประธาน มี ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และ รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว

น.ส.ตรีนุช  กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างใกล้ชิด โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีความเป็นห่วงเรื่องการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.เป็น ประธาน ได้อนุมัติในหลักการให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาทุกสังกัด ที่มีอายุ 12 ปี จนถึง 18 ปี จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ซึ่งรวมถึงเด็กสังกัด ศธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันระหว่าง ศธ. กับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เพราะเชื่อว่าการเรียนที่ดีที่สุดคือเรียนที่โรงเรียน โดยการฉีดวัคซีน Pfizer ให้แก่นักเรียน นักศึกษา จะเริ่มให้เร็วที่สุดในราวต้นเดือนตุลาคม โดยทางกรมควบคุมโรคจะไปวางแผนตารางการกระจายวัคซีนอีกครั้ง ขณะเดียวกันจะมีการวางมาตรการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงความจำเป็นและความสำคัญรวมถึงผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน เพื่อสำรวจความต้องการและความยินยอมของผู้ปกครองด้วย โดยคาดว่าปลายเดือนกันยายนนี้จะได้ข้อมูลสรุปจำนวนนักเรียนที่ผู้ปกครองยินยอมให้ฉีดวัคซีนได้ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มอายุ 12-18ปี จะอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัดก่อน

“สำหรับภาคเรียนที่ 2 ซึ่งเปิดในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะมีรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร ต้องดูว่า วัคซีนมาตามแผนหรือไม่ ต้องประเมินสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร โดยศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สาธารณสุขจังหวัด ต้องร่วมกันประเมินว่าจะสามารถเปิดเรียนในโรงเรียนได้หรือไม่ โดยเน้นความปลอดภัยของเด็กเป็นที่ตั้ง ส่วนข้อกังวลว่าถ้าเด็กได้รับวัคซีนแล้ว เปิดเรียนในโรงเรียนแล้ว แต่มีการติดเชื้ออีก ก็มีแผนเผชิญเหตุรองรับอยู่ถ้าต้องปิดโรงเรียนอีกก็ต้องทำ” น.ส.ตรีนุชกล่าวและว่า ศธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา เป็นอันดับแรก โดยได้ปรึกษาและประสานงานกับ สธ.อย่างใกล้ชิด และการฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน สำหรับการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้มีครูได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 70% โดยแผนการจัดสรรวัคซีนในเดือนตุลาคมนี้จะให้สถานศึกษาส่งรายชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยัง ไม่ได้รับวัคซีนมาด้วย เพื่อเร่งจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มครู

น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS) ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับ สธ. ในการลงพื้นที่ตรวจโรงเรียน ที่จะประสงค์เข้าโครงการว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่ ทั้งนี้ การเป็น โรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. เป็นโรงเรียนประจำ 2. เป็นไปตามความสมัครใจและ 3. ผ่านการประเมินความพร้อม โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านต้นสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครองและผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดให้มีสถานแยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดให้มี Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจราชการของศธ. และสธ.รวมถึงมีการรายงานผล ผ่าน MOE COVID และ Thai Stop Covid Plus

ดร.อัมพร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ที่กังวลกันว่า เด็กต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน แต่อยากมาโรงเรียน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมาเรียนในโรงเรียนไม่ได้ เพราะจะมีรูปแบบการเรียนที่หลากหลายเปลี่ยนตามบริบท เพื่อให้เด็กสามารถเข้ามาเรียนที่โรงเรียนได้ เช่น ครูได้รับวัคซีนครบถ้วนและถ้าในชุมชนไม่มีการระบาด อาจให้เด็กสลับวันมาเรียนได้ เป็นต้น สรุปคือการที่เด็กจะได้เรียนมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้ประเมินและพิจารณา กรณีที่ผู้ปกครองไม่ยอมให้เด็กฉีดวัคซีน เด็กสามารถมาเรียนในโรงเรียนได้ แต่ต้องผ่านการคัดกรองที่เข้มงวด และต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ สธ.กำหนด  หรือนักเรียนสามารถเรียนในรูปแบบอื่น เช่น ออนไลน์ ออนแฮนด์ เป็นต้น

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพวศ์ อธิบดีควบคุมโรค กล่าวว่า ตามแผนที่วางไว้วัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามาในช่วงปลายเดือนกันยายน ประมาณ 2 ล้านโดส และในเดือนตุลาคมจะทยอยเข้ามาประมาณสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะสามารถฉีดเข็มที่ 1 ให้เด็กเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม และจะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อไป โดยการฉีดวัคซีนต้องคำนึง 2 อย่าง คือ ประสิทธิภาพของวัคซีน และความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ฉีดในประเทศไทย ต้องผ่านการรับรองประสิทธิภาพและได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ให้นำมาใช้กับประชาชนได้  ส่วนวัคซีนที่มาฉีดให้กับเด็กต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ อย.อนุมัติวัคซีนที่สามารถฉีดในเด็กได้คือ ไฟเซอร์และโมเดอนา  ดังนั้นขอให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย สธ.จะดูแลเรื่องนี้อย่างดีร่วมกับ ศธ. โดยการฉีดวัคซีนให้เด็กครั้งนี้ เป็นการฉีดวัคซีนตามความประสงค์ของผู้ปกครอง โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ น.ส.ตรีนุช ขอความร่วมมือให้ สธ.เร่งฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งหมด ซึ่ง สธ.จะเร่งผลักดันเรื่องนี้และจะขยายขอบข่ายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกับผู้ปกครองด้วย

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments