เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ที่โรงเรียนคลองขลุงราษฎร์รังสรรค์ ได้มีการจัดงาน “โครงการขยายผลกิจกรรมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียนรูปแบบ Active learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” โดย ดร.ศักดิ์ชัย เพชรแกมทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)กำแพงเพชร กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ การจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อเตรียมพร้อมทักษะในศตวรรษที่ 21 (21 Century Skills) ให้แก่นักเรียนมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกันนี้ขอแสดงความชื่นชมโรงเรียนต้นแบบทั้ง 4 โรงเรียนที่จัดกระบวนการเรียนรู้ได้ดีและให้กำลังใจกับโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในการที่จะนำรูปแบบ การจัดการเรียนรู้ Active learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป

ดร.สุรพล พิมพ์สอน ผู้อำนวยการโรงเรียนคลองขลุงราษฎร์รังสรรค์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ในโลกปัจจุบันยุคศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการเชื่อมโยง ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ และความรู้เกิดขึ้นใหม่มากมาย ทำให้การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม ท่ามกลางสังคมบริโภคนิยม ดังนั้นการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญ ที่เราจะต้องเพิ่มพูนทักษะเพื่อการเรียนรู้และฝึกฝน รวมทั้งการเตรียมพร้อมทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้นักเรียนได้เติบโตและมีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งการจัดการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning เป็นแนวการจัดการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และตอบสนองต่อการพัฒนาของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กอปรกับ นโยบาย ประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”ดังนั้นกระบวนการจัดการเรียนรู้จึงต้องพัฒนานักเรียนให้มีกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ ในการที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning GPAS 5 Steps เป็นกระบวนการพัฒนาผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

ดร.สุรพล กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมวันนี้เป็นการขยายผลหลังจากที่โรงเรียนหลัก 4 โรงในจังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ โรงเรียนคลองขลุงราษฎร์รังสรรค์ โรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม โรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม และโรงเรียนวัชรวิทยา ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรมครู มาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้มีการขับเคลื่อนจนเกิดนวัตกรรมของนักเรียน ซึ่งการจัดกิจกรรมขยายผลในวันนี้เป็นการขยายผลการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วย Active Learning โดยกระบวนการ GPAS 5 Steps หรือกระบวนการคิดขั้นสูงให้แก่โรงเรียนมัธยมศึกษา 28 โรงในจังหวัดกำแพงเพชรไปขยายผลต่อในปีงบประมาณ 2565 หรือภาคเรียนที่ 2/2564นี้ โดยทักษะ หรือกระบวนการคิดขั้นสูงเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพราะกระบวนการจะเริ่มตั้งแต่การค้นหาข้อมูล สืบค้นข้อมูลแล้วจัดการข้อมูล ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับเด็กเพราะเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามา โซเชียลต่างๆก็เข้ามาทำให้เด็กต้องมีกระบวนการคิดเพื่อให้สามารถจัดการข้อมูลได้ว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ เพราะฉะนั้นเชื่อว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบนี้จะทำให้เด็กมีทักษะกระบวนการคิดที่ดีขึ้น และเรียนอย่างมีความสุขเพราะได้ลงมือปฏิบัติจริง

“เมื่อเด็กได้ปฏิบัติแล้วสิ่งที่โรงเรียนคาดหวังคือการเชื่อมโยงไปสู่ชุมชนโดยนักเรียนสามารถเรียนรู้กับชุมชนเพื่อต่อยอดในการจัดการปัญหาจนเกิดเป็นนวัตกรรมได้ ผมเชื่อว่าการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจะทำให้เด็กไม่เบื่อเกิดความสนุกสนานซึ่งเรามาถูกทางแล้ว แต่การเรียนการสอนด้วยวิธีนี้ก็มีอุปสรรค คือโรงเรียนต้องไปจัดระบบของการเรียนรู้โดยต้องดูว่าการเรียนโดยนวัตกรรมทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำซ้อนเพราะครูหลายคนเด็กเรียนหลายวิชาจะทำให้เกิดนวัตกรรมหลายชิ้นงานก็จะเป็นปัญหากับเด็กได้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนต้องไปดูเรื่องหลักสูตรโดยการจัดกระบวนจัดทำหลักสูตรหรือหน่วยบูรณาการ เพื่อให้เด็กไปใช้หน่วยบูรณาการลงไปปฏิบัติและไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนซึ่งจะทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุขได้”ดร.สุรพลกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการขยายผลครั้งนี้เกิดจาก ผอ.สพม.กำแพงเพชร ซึ่งได้เข้าร่วมการประกาศเดินหน้าพลิกโฉมสร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ก้าวข้ามสภาวะวิกฤตโควิด-19 แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดชั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่หอประชุมคุรุสภา เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา แล้วเห็นว่าเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ใช่ ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ครบถ้วน และช่วยให้ครูเกิดการพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพได้ด้วย จึงได้ติดต่อมาที่มหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงในการขยายผลไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาทุกโรงในจังหวัดกำแพงเพชร และทราบว่าวันนี้ได้มีโรงเรียนประถมศึกษาส่วนหนึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments