เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่ศาลายา มีการจัดกิจกรรมโค้งสุดท้ายของ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ”

ดร.ชฎาณัฏฐ์ ปิยะวิบูลย์ รองคณบดีพื้นที่ศาลายา คณะบริหารธุรกิจ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)รัตนโกสินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย  (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) มทร.รัตนโกสินทร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการยกระดับรายได้ของประชาชน โดยได้รับการสนันสนุนงบประมาณดำเนินการจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว.  ทางคณะบริหารธุรกิจ มทร.รัตนโกสินทร์ ศาลายา เรามีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการบริหารธุรกิจ การจัดการเทคโนโลยี การคำนวณต้นทุน อยู่หลายคน จึงได้ทำโครงการขึ้นมาเพื่อขออนุมัติจาก อว. เมื่อได้รับอนุมัติแล้วเราก็ประสานไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่ง อบต.วัดแค อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีความสนใจและได้มาร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัย

“จริง ๆ แล้วชุมชนวัดแคมีผลิตภัณฑ์หลายตัว ซึ่งทางโครงการได้เข้าไปศึกษาข้อมูล แล้วมาวิเคราะห์ว่าสามารถช่วยอะไรได้บ้าง เช่น การออกแบบโลโก้ การทำบรรจุภัณฑ์ หรือ การโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ ก็สามารถช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ชาวบ้านได้ โดยเน้นความยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้ช่วยเรื่องการวางแผนการตลาดด้วย เพราะโครงการมีผู้ร่วมงาน 3 ส่วน คือ บัณฑิตที่จบการศึกษาไปแล้ว นักศึกษาปัจจุบัน และชาวบ้าน ก็จะมาช่วยกันคิดระดมสมอง ออกแบบ โดยมีวิทยากรภายนอกมาช่วยให้ความรู้เพิ่มเติม จนทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะนำไปวางขายในชุมชน เช่น เจลแอลกอฮอล์ และ เทียนหอม โดยเฉพาะเทียนหอม ที่ใช้เอกลักษณ์ของตำบลวัดแคมาเป็นส่วนผสมหลัก คือ มะพร้าว โดยนำมาผลิตเป็น เทียนหอมแฟนซีกลิ่นมะพร้าว ซึ่งเป็นเทียนหอมที่มีกลิ่นมะพร้าวหอมอ่อน ๆ โชยมาตั้งแต่ยังไม่ได้จุด”ดร.ชฎาณัฏฐ์กล่าว

นายนิธินพ ทองวาสนาส่ง อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มทร.รัตนโกสินทร์ ศาลายา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดย คณะบริหารธุรกิจ มทร.รัตนโกสินทร์ พื้นที่ศาลายา ร่วมกับ อบต.วัดแค ในการช่วยเหลือชุมชน ในหลายเรื่อง ไม่ว่าเป็นการส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าชุมชน เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีศักยภาพมากขึ้น โครงการนี้ถึงแม้คณะบริหารธุรกิจจะเป็นเจ้าของโครงการ แต่ มทร.รัตนโกสินทร์ มีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่สามารถมาสนับสนุนโครงการได้ เช่น การร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ ให้อาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร มาช่วยออกความคิดร่วมกับนักศึกษาที่ได้ไปสำรวจความต้องการของชุมชนแล้ว พบว่า พื้นที่ชุมชนวัดแคมีมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงนำน้ำมันมะพร้าวมาเป็นส่วนผสมผลิตเป็นเทียนหอมแฟนซีกลิ่นมะพร้าว เป็นต้น และวันนี้ทางโครงการฯก็กำลังผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปส่งมอบให้ชุมชนเพื่อจัดจำหน่ายต่อไป

ด้าน นางปราชญา ราชปี หรือ ป้าเล็ก  ชาวบ้านชุมชนวัดแค ซึ่งเข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า รู้สึกยินดีมากที่มหาวิทยาลัยมีโครงการดี ๆ ทำให้ชาวบ้านรู้จักอาชีพใหม่ ๆ และ ผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมรายได้ของประชาชน จากที่ชุมชนมีอาชีพหลัก ๆ คือ เป็นชาวสวนมะพร้าว สวนส้มโอ แล้วก็ค้าขาย แต่พอมีโครงการนี้เข้ามาก็ทำให้เรามีผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชนได้ อยากให้มีโครงการอย่างนี้อีก แล้วก็อยากให้มหาวิทยาลัยมีโครงการที่มีการทำงานร่วมกันกับประชาชนมาก ๆ

5 2 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments