เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยถึงการรับนักเรียน นักศึกษา ปีการศึกษา 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่า ปีนี้ สอศ.หวังว่าจะมีเด็กเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น ตามนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) โดยเฉพาะนโยบายการป้องกันเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา ซึ่ง ศธ.ได้ประกาศเป็นนโยบายว่าเด็กที่จบ ม.3 ต้องได้เรียนต่อ 100% และยังมีโครงการการอาชีวะสร้างโอกาสการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ หรือ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ที่เป็นนโยบายของรมว.ศึกษาธิการ เพื่อรองรับเด็กที่มีฐานะยากจน ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้เข้ามาเรียนสายอาชีพ ซึ่ง สอศ.ได้สั่งการให้สถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายดังกล่าวแล้ว

เลขาธิการ กอศ.​กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สถานศึกษาในสังกัด สอศ.ได้เริ่มออกไปแนะแนวเชิญชวนนักเรียนให้มาเรียนสายอาชีพแล้ว โดยเป็นการดำเนินการผ่านสื่อโชเซียล พร้อมกับทำหนังสือประสานไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษา และโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อแนะแนวการเรียนต่อและให้โควต้าแก่นักเรียนของโรงเรียนต่างๆ โดยเน้นย้ำว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลและรมว.ศึกษาธิการที่ต้องการให้เด็กมาเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่เน้นการเรียนสายอาชีพ เพื่อให้ประกอบอาชีพได้ตนเอง โดย สอศ. จะมีการเพิ่มเติมหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการ หรือ Start up ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะสามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสถานประกอบการก็ได้

“ขณะนี้ สอศ.มีปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน ซึ่งเท่าที่สำรวจพบว่า ขาดครูมากถึง 17,700 กว่าคน ซึ่งสถานศึกษาก็ได้แก้ปัญหาโดยใช้เงินรายได้ของสถานศึกษาจ้างครูอัตราจ้างไปแล้ว และ รมว.ศึกษาธิการก็ได้รับทราบถึงปัญหา จึงเห็นควรให้ทำเรื่องถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอใช้งบกลางเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ได้มีการจ้างครูอัตราจ้างไปก่อนแล้วประมาณ 8,000 กว่าอัตราก่อน ขณะเดียวกันก็ทำเรื่องตั้งเป็นงบปกติในปีงบประมาณ 2566 นอกจากนี้ สอศ.ยังได้ทำเรื่องไปยังคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อขอกำหนดอัตราตามความขาดแคลนของสถานศึกษาด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือสถานศึกษาในเบื้องต้นได้ เพื่อให้สถานศึกษานำเงินรายได้ของสถานศึกษาไปจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องมารับภาระเรื่องการจ้างครู”ดร.สุเทพ กล่าวและว่า สำหรับเหตุผลที่ทำให้ สอศ.ขาดแคลนครู เนื่องมาจาก ก.ค.ศ.กำหนดอัตราส่วนครูต่อนักเรียนแล้วมาใช้กับทุกสังกัด ซึ่งในทาง
ปฏิบัติในส่วนของอาชีวศึกษา ไม่สามารถใช้สัดส่วนดังกล่าวได้ เพราะเป็นการเรียนสายวิชาชีพที่จะต้องใช้ครูเฉพาะสาขาซึ่งมีความหลากหลายมาก อย่างไรก็ตามในระยะยาวการแก้ปัญหาคงต้องขอกำหนดอัตราจาก ก.ค.ศ.ใหม่ และอีกวิธีการหนึ่งคือใช้บุคลากรจากสถานประกอบการมาเป็นวิทยากรพิเศษ และเน้นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี โดยส่งเด็กไปเรียนรู้ในสถานประกอบการซึ่งจะสามารถช่วยลดการขาดแคลนบุคลากรและเด็กยังได้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยด้วย

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments