***หยอก หยอก วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 *** ณ วันนี้ ประเด็นที่กลับมาฮอตติดลมบนในแวดวงการศึกษา อีกครั้ง เห็นจะเป็นเรื่องของการเดินหน้าใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ “เกศทิพย์ ศุภวานิช” รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ในฐานะกำกับดูแลสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงถึงเรื่องการประกาศทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง 8 จังหวัด 400 กว่าโรงเรียน พบว่า มีเพียง 5 โรงเรียนเท่านั้นที่ทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ และยังใช้เพียง 5 สมรรถนะ จาก 6 สมรรถนะ คือ การจัดการตนเอง การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน ดังนั้นอาจพูดได้ว่า โรงเรียนทั้ง 5แห่งทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่เต็ม100% ทั้งนี้เกศทิพย์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทั้ง5โรงเรียน อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่เพียงที่เดียวเท่านั้น … เรื่องนี้ “ตรีนุช เทียนทอง”เจ้ากระทรวงจะรู้เรื่องมั้ยน้า *** ตอนนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการศึกษา ว่า การจัดทำ (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) โดยคณะกรรมการจัดทำและพัฒนากรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มี “สิริกร มณีรินทร์” เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และ “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา อาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือไม่ เพราะ มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า “ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อ ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” ***เนื่องจากคณะกรรมการ กพฐ.ไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการปรับเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเอง…งานนี้มีพรายกระชิบข้างหูว่า ในการประชุมบอร์ด กพฐ.ชุดใหม่ ในวันที่ 3 ก.พ.นี้ ที่มีบรรดา อดีตบิ๊กใหญ่ ศธ.นั่งเป็นบอร์ด จะมีการเคลื่อนไหวผลักดันพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว…งานนี้ก็คงต้องฝากอนาคตของเด็กไทยที่จะเป็นกำลังของชาติให้บอร์ด กพฐ.ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดทำหลักสูตรพิจารณากันให้ดี ๆ ก่อนลงมติเดินหน้าให้จัดทำหลักสูตรที่มีเสียงท้วงติง และคัดค้าน กับความไม่เหมาะสม ไม่ถูกที่ ถูกเวลาโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ถึงแม้สถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลาย แต่เด็กไปโรงเรียนก็ยังเสี่ยงติดเชื้ออยู่นะจ๊ะ *** เรื่องนี้ต้องเอาให้ชัด อย่าให้ผลประโยชน์ส่วนตัวมาทำร้ายเด็กที่จะเป็นกำลังของชาติในอนาคต…งานนี้ หยอก หยอก ต้องขอยกนิ้วให้ “เกศทิพย์ ศุภวานิช” ที่กล้าออกมาต่อกลอน กับคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรฯ เพราะแต่ละท่านล้วนเป็นผู้ที่คร่ำวอดระดับที่ทุกคนต้องก้มหัวให้ทั้งสิ้น นับถือ นับถือ *** ร่ายยาวเลยสำหรับเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ เปลี่ยนโหมด มาเรื่องครูอัตราจ้างของ สพฐ.ที่เป็นผลพวงจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่2(Stimulus Package2:SP2)หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี 2553-2555 ซึ่งรัฐบาลให้เงินจำนวนหนึ่งมาจ้างนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้ว แต่ยังไม่มีงานทำในสัญญา 3 ปี แต่เมื่อครบกำหนด 3 ปีแล้วนักศึกษาเหล่านี้ก็ยังเรียกร้องให้รัฐบาลว่าจ้างต่อ โดยให้ใช้เงินของ สพฐ.เอง จนถึงเวลานี้มีจำนวนครูอัตราจ้างถึง 67,000 คน ที่มีแววว่าอีกไม่กี่เดือนจะไม่มีเงินจ้างแล้ว เพราะเงินคงคลัง สพฐ.ที่เจียดมาให้หลายปีหมดเกลี้ยง… เอาเป็นว่า ถ้า “ครูเหน่ง”จะใจดีเห็นใจครูอัตราจ้างตัวเล็กตัวน้อย ก็น่าจะใช้กำลังภายในขอเงิน 3,000 ล้านบาทจากรัฐบาลให้สำเร็จ แต่ถ้าไม่ได้เดือนมีนาคมนี้ ครูอัตราจ้างของ สพฐ.ที่มีหลายระดับตั้งแต่เงินเดือน 9,000-15,000 บาท ก็ต้องถูกเลิกจ้าง เพราะ สพฐ.ไม่มีเงินจ้างแล้ว… น่าเห็นใจจริง ๆ ***
“เกศทิพย์”พูดเองโรงเรียนยังไม่พร้อมใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ
Subscribe
0 Comments