เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ พบว่าถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีประกาศเรื่อง “ยกเลิกการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551” ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564   รวมถึงไม่นำผล O-NET มาเป็นเกณฑ์พิจารณาในการเลื่อนขั้นเงินเดือนของครู และบุคลากรทางการศึกษา ด้วย  แต่ปรากฎว่าขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งยังคงมีการสอบ O-NET อยู่ เนื่องจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) บางแห่งได้นำผล O-NET มาจัดอันดับโรงเรียน เพื่อแข่งขันกัน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะจะเป็นการผลักความเครียดและความกดดันของการแข่งขันไปที่นักเรียน ตนจึงมอบหมายให้ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เร่งทำความเข้าใจกับทุกเขตพื้นที่การศึกษา และ โรงเรียนที่มีนักเรียนสมัครใจสอบ O-NET ให้รู้ผลคะแนนแค่ภายในโรงเรียน แล้วนำมาปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนให้ดีขึ้น ไม่ให้มีการนำมาใช้จัดอันดับโรงเรียน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังพบว่า หลายโรงเรียนได้มีการสอนเสริม เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียน โดยเฉพาะชั้น ป.6   ม. 3 เพื่อเข้าสอบ O-NET ปีการศึกษา 2564 ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบ โดยชั้น ป.6 สอบวันที่ 12 ก.พ.65 และ ชั้น ม.3 สอบวันที่ 13 ก.พ.65 ซึ่งการสอบต้องเป็นไปตามความสมัครใจ ไม่บังคับเข้าเด็กสอบ และขอมอบแนวทางให้ทุกโรงเรียนที่ให้เด็กร่วมสอบว่า ปล่อยให้การสอบ O-NET เป็นไปตามความรู้ความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน เพื่อทราบว่าเด็กได้คะแนนเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามตนเห็นด้วยกับครูที่เป็นห่วงถึงคะแนน O-NET รอบนี้ ว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กว่า 2 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถมาเรียนในรูปแบบ On-site ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคะแนน O-NET นี้ ครูสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนได้

“ อย่ากลัวว่าคะแนนที่ออกมาจะไม่ดี เราไม่ได้สอนเพื่อให้เด็กได้คะแนนสอบสูง แต่ควรเน้นการสอนให้เด็กเข้าใจ รู้จักคิดวิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็น ดิฉันไม่อยากให้เอา O-NET มาสร้างความกดดันให้เด็ก และครูในโรงเรียน อีกทั้งการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้เด็กย่อมเกิดภาวะความรู้ถดถอยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก เราไม่จำเป็นต้องติวเน้นให้นักเรียนได้คะแนนสอบสูง เพราะตอนนี้ไม่ได้มีการนำผลคะแนนไปใช้ประกอบการประเมินใด ๆ แล้ว” น.ส.ตรีนุช กล่าว

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments