เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ติดตั้งระบบประตูป้องกันภัยให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองบุคคลแปลกหน้าเข้าออกในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนที่สอนเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นกลุ่มอ่อนแอทางสังคม นั้น ตนได้สั่งการให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยในสังกัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประสานกับหน่วยการจัดการศึกษาปฐมวัยในจังหวัด ทั้ง สังกัด สพฐ. เทศบาล องค์กรบริหารส่วนจังหวัด องค์กรบริหารส่วนตำบล และเอกชน สำรวจความต้องการจัดตั้งระบบป้องกันภัยตามบริบทของแต่ละพื้นที่
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า เมื่อสำรวจแล้วให้สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างแมคคาทรอนิกส์ และช่างไฟฟ้า จัดทำและติดตั้งระบบป้องกันภัย เพื่อใช้ควบคุมการเข้าออก คัดกรองบุคคลแปลกหน้าหรือผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าออก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยระบบควบคุมความปลอดภัยคุณภาพสูงอาจใช้ระบบสแกนนิ้วมือ/สแกนใบหน้า แอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนรูปภาพและข้อความบุคคลเข้าออก ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมและถูกควบคุมได้จาก ระยะไกลผ่านอีกทั้งจัดทำเหล็กดัดติดตั้งบริเวณประตู/หน้าต่างในราคาต้นทุน เพื่อจัดเตรียมความพร้อมอาคารสถานที่ให้มีความปลอดภัย ต่อชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันการก่อเหตุที่ไม่คาดคิด ต่อไป
“ทั้งนี้ ผมได้ประสานให้วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา โดย ผอ.ธนภัทร แสงจันทร์ และคณะเป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องในการออกแบบทดลองระบบป้องกันภัยให้กับนักเรียนเด็กเล็กในจังหวัดนครราชสีมาก่อน เพื่อให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นต้นแบบ เพราะจังหวัดนี้เคยเกิดเหตุกราดยิงมาแล้วเช่นกัน”ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ กล่าว