เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ที่ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อร่วมกันสร้างค่านิยมทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ สร้างป่า ระหว่างมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และมูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ โดย พลเรือเอกประพฤติพร อักษรมัต รองประธานกรรมการมูลนิธิปลูกต้นไม้ ซึ่ง ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ 3 องค์กรที่ทำงานด้านการปลูกต้นไม้ และ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแผ่นดินไทย ทำให้วัดเป็นสถานที่ร่มรื่นพักพิงกายและใจ เป็นการสร้างสมบัติตอบแทนคุณแผ่นดิน และช่วยลดภาวะเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน โดยการเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันปลูกต้นไม้ โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาก็มีนโยบายสำคัญในการปลูกฝังให้เด็กนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาเห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกต้นไม้


รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่ตนกำกับดูแลวิทยาลัยเกษตร เทคโนโลยี วิทยาลัยประมง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ได้มอบนโยบายให้ทุกวิทยาลัยปลูกต้นไม้อย่างน้อยแห่งละ 50 ไร่ และหากวิทยาลัยฯไหนมีพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ ก็ให้ปลูก 100 ไร่ ร่วมถึงปลูกต้นไม้มีค่า เพื่อสร้างรายได้ให้แก้วิทยาลัยและสร้างความมั่นคงให้ลูกหลานในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อน โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่โรงเรียนละวิทยาลัย Green School & Green College โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการบริหารและพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะใช้พื้นที่ในวิทยาลัย (Green College) และในพื้นที่โรงเรียน (Green School) ดำเนินการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

“ฐานะประธานมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ตลอด 36 ปีที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการพลิกฟื้นป่าไปไม่ต่ำกว่า 87,000 ไร่ จัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไป ทำให้ได้รับเลือกให้เป็นองค์กรดีเด่นด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพียงประการเดียว คือ การระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับแผ่นดินไทย โดยดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้”คุณหญิงกัลป์ยากล่าวและว่า การปลูกต้นไม้ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา กับทุกคน เป็นกิจกรรมที่ไม่จำกัดเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือศาสนา เป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมและส่วนตน ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม การปลูกต้นไม้จึงถือเป็นบุญมหาศาล ไม่ว่าจะคำนวณด้วยหลักวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ ซึ่งรู้สึกยินดีและปลื้มใจที่เด็กๆ เยาวชนไทยมีความสนใจในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้มีส่วนร่วมช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวจนเป็นป่า เพื่อให้ต้นไม้และป่าได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสนับสนุนนโยบายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2580 ทั้งพื้นที่อนุรักษ์เดิมที่ต้องรักษา ปลูกเสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ และป่าในเมือง รวมทั้งโอกาสในการซื้อขายคาร์บอนในอนาคตได้อีกทางหนึ่งด้วย

พลเรือเอกประพฤติพร อักษรมัต รองประธานกรรมการมูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้เริ่มส่งเสริมให้มีการทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2560 โดยส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการร่วมสนับสนุนสร้างค่านิยมทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ สร้างป่า เพื่อร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ สร้างป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในที่ดินของตนเอง ที่สาธารณประโยชน์ เป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มขึ้นกระจายทั่วประเทศ

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments