รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ ศธ.ตามนโยบายของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนเลือกผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามความเหมาะสม โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 และขณะนี้โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 30,000 โรงทั่วประเทศก็สามารถเลือกใช้อินเทอร์เน็ตได้เอง โดย สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงเรียนอีกประมาณ 20 โรงในพื้นที่ห่างไกล เช่น โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่สูง พื้นที่เกาะที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต สัญญาณโทรศัพท์เข้าถึงในพื้นที่สามารถใช้ได้เพียงสัญญาณดาวเทียมเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้ส่งรายชื่อทั้ง 20 โรงเรียนให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ขอให้ช่วยไปศึกษาและหาวิธีการที่จะให้โรงเรียนกลุ่มนี้มีอินเทอร์เน็ตใช้เช่นเดียวกับโรงเรียนอื่นๆ
“ตอนนี้ได้มอบคณะทำงานไปทำการติดตามและสรุปผลการใช้งานอินเทอร์เน็ตช่วงที่ผ่านมา ในหลักการต้องการรู้ว่าการใช้งานของโรงเรียนเป็นเช่นไร ดีขึ้นไหม งบประมาณที่จัดสรรให้ไปเพียงพอหรือไม่ จำเป็นต้องจัดสรรเพิ่มหรือเปล่า แต่จากที่ผมลงพื้นที่ติดตามการใช้งานอินเทอร์เน็ตในหลายโรงเรียนพบว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะโรงเรียนสามารถเลือกผู้ให้บริการได้เองตามความเหมาะสม และได้รับการดูแลที่ดีจากผู้ให้บริการ ต่างจากแต่ก่อนที่เวลามีปัญหาก็ติดต่อประสานงานให้เข้ามาดูแลได้ยาก”รศ.นพ.โสภณ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าคณะทำงานจะเร่งสรุปข้อมูลโดยเร็ว เพื่อนำมาวางแผนดำเนินการต่างๆในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งทราบว่า สพฐ.ได้เตรียมงบประมาณค่าใช้จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตให้โรงเรียนแล้ว
    ด้าน นายสมเกียรติ สรรคพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้ สทร.กำลังเร่งติดตามประเมินผลการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน เบื้องต้นในภาพรวมโรงเรียนพึงพอใจ เพราะสามารถเลือกผู้ให้บริการได้เองตามความเหมาะสม ซึ่งโรงเรียนจะมีการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตใน 2 ระบบ คือ ระบบหนึ่งใช้สำหรับงานบริหารของโรงเรียน และระบบที่ใช้เพื่อการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน ทั้งนี้ สำหรับปีงบประมาณ 2562 สพฐ.ได้รับอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 797 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการจัดสรรให้โรงเรียนเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องระบบอินเทอร์เน็ต
ซึ่งการจัดสรรก็จะเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขเพิ่มเติมบางประเด็น แต่หลักสำคัญคือกรณีที่โรงเรียนใช้งานอินเทอร์เน็ต 2 ระบบข้างต้นนั้น ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ได้รับจัดสรรไม่เกิน 1,500 บาทต่อเดือน โรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่พิเศษ ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน โดยโรงเรียนจะต้องมีระบบ IP Adress หลักไว้ด้วย ยกเว้น 20 โรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่ใช้ดาวเทียม สพฐ.จะเพิ่มให้พิเศษอยู่ที่ 2,900 บาทต่อเดือน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments