เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)ทั่วประเทศ ว่า ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ถือเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภูมิภาค และเป็นผู้ทำงานใกล้ชิดกับผู้อำนวยการโรงเรียน และครูมากที่สุด ดังนั้น ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ​ ถือเป็นบุคคลที่สำคัญ เพราะไม่ว่า ศธ.จะมีนโยบายอะไร หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะไม่สามารถขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภูมิภาคได้  อย่างไรก็ตาม ศธ.ถือเป็นกระทรวงหนึ่ง ที่สังคมคาดหวังอย่างมาก เพราะเราดูแลเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ดังนั้น เวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นในโรงเรียน กับนักเรียน เสียงจะดัง จะเป็นข่าวตลอด เพราะเรื่องของเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก ทำให้การทำงานด้านการศึกษาจึงมีความท้าทายอย่างมาก ซึ่งตนทราบดีว่า ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ​ ทำงานภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ต้องบริหารบุคคล และต้องบริหารการศึกษาไปด้วย ดังนั้นวันนี้เราจะร่วมกันอย่างไรที่จะขับเคลื่อนงานให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้มากที่สุด

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เราทุกคนไม่ได้ทำงานสอนหนังสือ และบ่มเพาะนักเรียนเท่านั้น แต่ความปลอดภัยของนักเรียนก็ถือเป็นสำคัญที่เราต้องดูแลเช่นกัน ปัจจุบันภัยสังคม โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด เริ่มเข้ามาหาเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางแล้ว จึงอยากฝากผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ช่วยกำกับดูแลโรงเรียน เข้าไปดูแล รวบรวมข้อมูลว่าในเขตพื้นที่ ที่ตนดูแลรับผิดชอบ มีโรงเรียนที่มีความพร้อมกี่แห่ง มีโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือกี่แห่ง ถ้าเรารู้ว่าลูกๆ ในมือของเรามีความต้องการอะไรบ้าง ก็จะทำให้เขตพื้นที่ฯ​ สามารถดูแลโรงเรียนได้ดีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากให้คำแนะนำ กำกับดูแลโรงเรียนแล้ว อยากให้เขตพื้นที่ฯ​ สร้างโอกาส สร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา ขับเคลื่อนโครงการพาน้องกลับมาเรียน ช่วยเหลือเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันให้ได้รับการศึกษา และฝึกอาชีพระยะสั้น พร้อมกำกับติดตามตรวจสอบเพื่อป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ตลอดจนขับเคลื่อนโครงการ 1 ครูอนามัย 1 โรงเรียน โดยมีเป้าหมายให้นักเรียน 1 ล้านคน สามารถทำ CPR ได้ และให้นำกระบวนการเรียนการสอนแบบ Active Learning มาใช้

น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า ขณะนี้ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) มีมติเห็นชอบ ปรับปรุงมาตรการควบคุมกำลังคนในส่วนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สามารถบริหารอัตรากำลังในโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์ มากำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ที่มีจำนวนนักเรียน 61-119 คน จากเดิมที่ คปร.กำหนด ไม่คืนอัตราเกษียณให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ที่ผ่านมา ศธ.ตระหนัก และทราบถึงปัญหา เพราะมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 61-119 คน ไม่มีผู้บริหารโรงเรียนจำนวนมาก โดย ศธ. อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก และไม่ให้นักเรียนเสียโอกาสทางการศึกษา

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักเรียนได้เข้าทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ไปแล้ว และที่ผ่านมา ศธ. ประกาศ ยกเลิกการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 จึงอยากให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ​ สร้างความรับรู้กับผู้บริหารและครู ว่า จะไม่มีการนำผลการสอบโอเน็ต มาเป็นเกณฑ์พิจารณาในการเลื่อนขั้นเงินเดือนของครู และบุคลากรทางการศึกษา แต่อยากให้โรงเรียนใช้ผลการสอบโอเน็ต มาเป็นตัววัดระดับความรู้ของนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนมาวิเคราะห์และจัดกระบวนการเรียนการสอนให้ความรู้นักเรียนเพิ่มเติม อีกทั้งอยากให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ​ กำกับติดตามให้โรงเรียนให้ใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ผ่านมารัฐบาลให้เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวแบบขั้นบันได และเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน ดังนั้นการใช้จ่ายงบประมาณจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยเฉพาะอาหารกลางวัน จะต้องติดตามให้โรงเรียนบริหารจัดการอาหารกลางวันให้นักเรียนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และอยากให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ​ ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นให้สังคม สร้างความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล เพื่อให้ครูมีความเชื่อมั่นในระบบการบริหารงานบุคคล และให้ครูมีขวัญกำลังใจในการทำงาน สามารถพัฒนาเด็กได้ต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments