เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566  ดร.กฤษ ละมูลมอญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)บุรีรัมย์  เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ Coding ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning เพื่อพัฒนาทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ” โดย มีนายสุดใจ  อ่อนฤาชา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ กล่าวรายงาน วัตถุประสงค์โครงการดังกล่าว ว่า เพื่อส่งเสริมพัฒนาครูให้มีความรู้และทักษะในการสร้างสื่อ นวัตกรรม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้นวัตกรรมของครูที่มีวิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practices)ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผู้เรียนเป็นนักประดิษฐ์ เป็นนวัตกรและมีสมรรถนะตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และคัดเลือกนวัตกรรมหรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ Coding เพื่อเผยแพร่เป็นแบบอย่างให้กับครูต่อไป

ดร.กฤษ  กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ซึ่งใช้ครบทุกชั้นเรียนในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นมา โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เพิ่มเติมสาระที่ 4 เทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วย มาตรฐาน ว4.1 การออกแบบและเทคโนโลยี และ มาตรฐาน ว4.2 วิทยาการคำนวณ โดยการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาการคำนวณ (Computing Science) ซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้หลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) วิทยาการคอมพิวเตอร์ 2) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3) การรู้ดิจิทัล

“สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐานและสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณและโค้ดดิ้ง โดยมีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้ครูผู้สอนสาระเทคโนโลยี ทั้งในรูปแบการอบรม online แบบ on site ทั่วประเทศ และมีการจัดเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่นด้าน Coding ทั้งในรูปแบบ Unplugged และแบบ Plugged ในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือกลุ่มสาระอื่นที่นำองค์ความรู้ด้านโค้ดดิ้งไปบูรณาการให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ร่วมส่งผลงานเพื่อคัดเลือกเป็นผลงานดีเด่น และเป็นแนวทางให้กับครูผู้สอนได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ต่อไป”ผอ.สพม.บุรีรัมย์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม การจัดอบรมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในรายวิชาวิทยาการคำนวณ และครูผู้สอนที่สนใจ จำนวน 35 คน ศึกษานิเทศก์และคณะทำงาน จำนวน 15 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากคุณครูโรงเรียนพุทไธสง โรงเรียนกระสังพิทยาคม และโรงเรียนห้วยหินพิทยาคม ซึ่งมาให้ข้อคิดอันจะเป็นประโยชน์แก่การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ ต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments