ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว  ๆ นี้ ตนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน และให้กำลังใจผู้บริหาร ครูและบุคลากร ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดอ่างทองซึ่งจัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทุกประเภท ในระดับเตรียมความพร้อม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดอ่างทอง  มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา ในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) และเตรียมความพร้อมของเด็กที่มีความบกพร่อง เพื่อเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนเรียนรวม และ โรงเรียนเฉพาะความพิการ โดยมีรูปแบบการให้บริการใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.การให้บริการในศูนย์ฯ ให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม แก่ผู้มารับบริการแบบไป – กลับ ในชั้นเรียน และหน่วยบริการประจำอำเภอ โดยจัดการเรียนการสอน ส่งเสริม ฟื้นฟูสมรรถภาพ และวิชาการ ไปพร้อมๆ กัน พัฒนาด้านทักษะจำเป็นเฉพาะความพิการ รวมถึงการการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน  2.การให้บริการนอกศูนย์ฯ ให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มนักเรียนที่มีความบกพร่อง ได้แก่ รับบริการที่บ้าน ตามโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู  ห้องเรียนเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลอ่างทอง  ห้องเรียนเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ  ห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก ระดับประถมศึกษา โรงเรียนวัดไผ่ล้อม(มีเพิ่มพิทยาภูมิ) สังกัด สพป.อ่างทอง  ห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนวิเศษชัยชาญวิทยาคม สังกัด สพม.สิงห์บุรี อ่างทอง

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดอ่างทองยังมีการส่งเสริมอาชีพผู้เรียน และผู้ดูแลผู้ที่มีความบกพร่อง โดยในศูนย์ฯ มีการจัดร้านค้าสวัสดิการ ร้านกาแฟ เพื่อเป็นสถานที่ในการฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การประกอบอาชีพ ฝึกการบริการ และการขาย โดยมีการออกโปรโมชัน ซื้อ 3 แก้ว ในราคาเพียง 100 บาท หรือ สะสมแสตมป์แลกเครื่องดื่มฟรี เป็นต้น กิจกรรมได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง หน่วยงานราชการใกล้เคียง บุคลากรในหน่วยงาน และบุคคลภายนอกที่มาเยี่ยมเยือน ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าจะนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมผู้เรียนด้านอื่นๆ ต่อไป ในร้านค้าสวัสดิการยังมีผลิตภัณฑ์หน่วยบริการ ที่จัดขึ้นตามโครงการฝึกอาชีพผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการในหน่วยบริการ อาทิเช่น ยาดมสมุนไพร ถุงผ้าไชโย ตะกร้าสาน ข้าวตังทรงเครื่อง ดินสอ ปากกา ตุ๊กตาชาววัง และพรมเช็ดเท้า เป็นต้น จัดจำหน่ายอีกด้วย  นอกจากนี้ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดอ่างทองมีการส่งเสริมการเรียนรู้และมีกิจกรรมการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ระลึกถึงความสำคัญของสถาบันหลักของไทย มีบอร์ดความรู้เรื่อง วันสำคัญที่เกี่ยวกับสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งจะพบได้ในทุกห้องเรียน

ดร.เกศทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเลื่อนชั้นเรียนจะมีการประเมินผู้เรียนตามศักยภาพ โดยมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อประเมินพัฒนาการเมื่อผู้เรียนผ่านการพัฒนาตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program :IEP) และเมื่อผู้เรียนมีความพร้อมในการส่งต่อไปเรียนยังโรงเรียนเรียนรวม หรือโรงเรียนเฉพาะความพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษก็จะดำเนินการส่งต่อผู้เรียน และมีครูคอยติดตามประสานงานผ่านครูประจำชั้นและผู้ปกครองของผู้เรียน เพื่อติดตามพัฒนาการ โดยเฉพาะห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก ใน รร.วัดไผ่ล้อม (มีเพิ่มพิทยาภูมิ) และ รร.วิเศษชัยชาญวิทยาคม จะมีครูและบุคลากรของศูนย์ฯ ไปประจำการเพื่อให้การช่วยเหลือครูและสอนในบางรายวิชาที่ไม่สามารถเรียนรวมได้  โดยปีการศึกษา 2565 มีผู้เรียนที่ได้รับการส่งต่อไปเรียนยัง โรงเรียนเรียนรวม โรงเรียนเฉพาะทาง  การศึกษานอกระบบของกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13 คน ขณะเดียวกันก็มีผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จได้ไปประกอบอาชีพ คือ  1.นายจิรัฐ อินทร์เอียว ประเภทความบกพร่องทางการมองเห็น ซึ่งผู้เรียนได้ไปประกอบอาชีพนวดแผนไทยและสามารถนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้  และ 2.นายณัฐพร เมฆี ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา โดยผู้เรียนได้ช่วยครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ซึ่งสามารถเลี้ยงชีพและแบ่งเบาภาระครอบครัวได้

“ทางศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดอ่างทอง ยังได้มีการเพิ่มความเข้มแข็งด้านคุณภาพการจัดการศึกษา ด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครสวรรค์และศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดอ่างทอง โดยศูนย์ฯ นครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์ฯ ที่มีผลการประกันคุณภาพและได้รับรางวัล IQA Award ระดับชาติ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและช่วยพัฒนาคุณภาพเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการประกันคุณภาพภายในให้กับศูนย์ฯอ่างทอง ซึ่งต้องขอชื่นชมทีมงานประกันคุณภาพจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครสวรรค์ นำโดย นางกาญจนา ฮวดศรี ผู้อำนวยการและคณะด้วย อย่างไรก็ตามดิฉันได้ให้คำแนะนำว่า ให้มีการประชุมประเมินพัฒนาการผู้เรียนให้บ่อยครั้ง โดยให้ครูและคณะกรรมการ ประเมินพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อผู้เรียนมีพัฒนาการดีขึ้นจนสามารถเลื่อนระดับหรือส่งต่อได้ ให้เร่งดำเนินการเพื่อผู้เรียนจะได้ไม่พลาดโอกาสที่จะได้พัฒนาในระดับที่สูงขึ้น อย่างทันท่วงที  และให้จัดทำสารสนเทศผู้เรียนที่ได้ส่งต่อไปแล้ว เป็นฐานข้อมูล เพื่อติดตามตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ให้รู้ว่าหลังจากการส่งต่อ ผู้เรียนมีการพัฒนาอย่างไร เติบโตและไปประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตเช่นไร เพื่อจะได้รู้ผลของการพัฒนาและเข้าไปส่งเสริมได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการดูแลให้ขวัญและกำลังใจบุคลากรทุกระดับ เพื่อให้บุคลากรมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการปฏิบัติงาน”รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ดร.เกษทิพย์ กล่าวด้วยว่า ต้องขอชื่นชมศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดอ่างทองที่มีการขับเคลื่อนการศึกษาสอดคล้องกับหลักสูตรชาติได้เป็นอย่างดี มีการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสถาบันหลัก ครบถ้วน ทั้งสามสถาบัน  มีการจัดระบบด้านความปลอดภัยนักเรียนอย่างหลากหลายและครอบคลุม อาทิ การจัดสภาพแวดล้อม การจัดห้องเรียน ห้องพักครู ที่ครูสามารถมองเห็น และดูแลผู้เรียนได้ตลอด มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ในทุกจุดที่เหมาะสมสามารถสอดส่องดูแลผู้เรียนได้อย่างทั่วถึง  มีการจัดตารางและการสื่อสารด้วยรูปภาพ ช่วยให้ผู้เรียนทราบว่าในแต่ละวันจะได้ฝึกอะไรบ้าง จะมีกิจกรรมอะไรบ้างที่ผู้เรียนจะต้องทำ แม้ผู้เรียนจะไม่สามารถสื่อสารได้แต่ก็สามารถรับรู้ได้ผ่านการสื่อสารด้วยภาพ และสุดท้ายขอชื่นชมผู้บริหาร ครู และบุคลากรที่ให้ความมุ่งมั่น ทุ่มเท การดูแลนักเรียนที่มีความบกพร่องเป็นรายบุคคล โดยมีการแบ่งชั้นเรียน และห้องเสริมประสบการณ์ที่ชัดเจน ครูและบุคลากรเอาใจใส่ เข้าใจนักเรียน มีการวางแผนการทำงานทุกขั้นตอน มีการปรับพฤติกรรมผู้เรียน ส่งผลให้นักเรียนได้รับความรัก ความอบอุ่น และปลอดภัย และสามารถส่งต่อทางการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ตนได้ทำ Surprise visit ตรวจเยี่ยมโรงเรียนวัดเกาะ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา( สพป.)สุพรรณบุรี เขต 1 จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 33 คน ครูประจำการ 3 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน  ธุรการ 1 คน และนักการภารโรง 1 คน  เป็นโรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ครูไม่ครบชั้นและไม่ตรงตามวิชาเอก จึงได้แนะนำว่าควรนำการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้ครบทุกห้องเรียน และ โรงเรียนควรจัดทำผนังกั้นห้องเรียนระหว่างชั้น เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดภาระของครู  แต่ก็ขอชื่นชมครูผู้สอนที่มีความตั้งใจและดูแลเอาใจใส่นักเรียนเป็นอย่างดี อาคารสถานที่มีความสะอาด บรรยากาศโดยรอบทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนมีความสะอาดร่มรื่น เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โครงการอาหารกลางวัน จัดได้เหมาะสมตามหลักโภชนาการ น่ารับประทาน

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า นอกจากนี้ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อแนะนำแก่ ผอ. /รอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสพม.)สุพรรณบุรี และคณะ ในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย สพม.สุพรรณบุรี “รู้รักษ์ประวัติศาสตร์” ซึ่ง สพม.สุพรรณบุรี ได้ทำการถอดบทเรียนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีของจังหวัดสุพรรณบุรี จากการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสาระของหลักสูตรการศึกษา โดยผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์และครูแกนนำ ในการพัฒนาสาระการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวรรณคดีของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวรรณคดีของสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษามัธยมศึกษาสุพรรณบุรี ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) อันจะ ส่งผลให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวรรณคดีของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายแก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น   ซึ่งตนได้แนะนำให้มีการจัดทำคู่มือการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์สู่หลักสูตรสถานศึกษา เพื่อให้เข้าถึงผู้เรียน และเกิดประสิทธิภาพ ควรยกระดับการนำมาใช้ด้วยวิธีการจัดทำแผนบูรณาการรายวิชาเป็นรายชั้นเรียน เพื่อให้ครูผู้สอนในแต่ระกลุ่มสาระ และแต่ละระดับชั้นเรียนสามารถนำไปใช้ได้สะดวก การจำแนกเนื้อหาเข้าถึงนักเรียนแต่ละระดับชั้นได้ชัดเจน รวมถึงให้มีการจัดกิจกรรมที่สนับสนุนการสร้างความรู้และคุณลักษณะนักเรียน ควรใช้การมีส่วนร่วมในการเสนอความต้องการและรูปแบบในกิจกรรมจากความเห็นของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงกิจกรรมตามความถนัดและความสนใจ มีประสิทธิภาพในกระบวนการและ สู่เป้าประสงค์ของการดำเนินการสร้างคุณลักษณะผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิผล

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments