ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เปิดเผยว่า พว. ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการแอคทีฟเลินนิ่ง เรื่องกระบวนการคิดเชิงคำนวณเพื่อสนับสนุนการสอน Coding กลับกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมและคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์แนวใหม่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์(ฉบับปรับปรุง 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจวิธีการเขียนโปรแกรม หรือ Coding ที่ถูกต้องสามารถออกแบบจัดการเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมและกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมที่มีคุณภาพตามเป้าหมายของหลักสูตรรวมถึงเพื่อให้ครูตระหนักและเห็นความสำคัญของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการออกแบบเชิงวิศวกรรม ที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนางานและเพื่อให้ครูเห็นความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนตามเป้าหมายของหลักสูตรในศตวรรษที่ 21

ประธานบริหาร พว. กล่าวต่อไปว่า วิทยาการคำนวณและการออกแบบเชิงวิศวกรรมเป็นสาระหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์(ฉบับปรับปรุง 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งมีความสำคัญในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนรู้เป็นพื้นฐานเพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตหรือศึกษาต่อในวิชาชีพที่ต้องใช้แนวคิดเชิงคำนวณการแก้ปัญหาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ในการพัฒนางาน ซึ่งครู จะมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจแนวคิดหลัก ของเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ใช้ความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนางานอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม เลือก ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเข้าใจและใช้แนวคิดเชิงคำนวณในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการเรียนรู้การทำงานและแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ รู้เท่าทันและมีจริยธรรมด้วย

“การอบรมจะจัดขึ้นที่คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวน 3 รุ่น ๆละ 2 วัน ๆ ละ 6 ชั่วโมง โดยรุ่นที่หนึ่งจะเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 270 คน อบรมระหว่างวันที่ 19-20 มกราคมมกราคม 2562 รุ่นที่สองระดับมัธยมศึกษา จำนวน 270 คน ระหว่างวันที่ 26 -27 มกราคม 2562 และรุ่นที่สาม ระดับประถมศึกษาจำนวน 270 คนระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งคาดว่าผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะสามารถเลือกใช้แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้อย่างสร้างสรรค์และมีจริยธรรมสามารถออกแบบโปรแกรมและเขียนโปรแกรมเบื้องต้นได้ รวมถึงเข้าใจกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมและสามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนางานอยากมีความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่องการเขียนโปรแกรม Coding และกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมให้ผู้เรียนมีทักษะ ในการนำเทคโนโลยีไปสร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์และสามารถจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียน เกิดสมรรถนะตามเป้าหมายของหลักสูตรในศตวรรษที่ 21 ได้”ดร.ศักดิ์สิน กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments