เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ห้องประชุมเบญจพัชร ชั้น 2 อาคารเบญจรังสฤษฎ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน. ) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ร่วมลงนามความเข้าใจความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาต้นแบบการจัดการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ และเสริมสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้กับเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และประชาชนทั่วไป เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย ตลอดจนตระหนักถึงคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ธํารงอยู่อย่างยั่งยืน
พลเอก ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า ความร่วมมือ 3 ฝ่าย ในวันนี้ กอ.รมน. ให้ความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างความตระหนัก การรับรู้ การเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อให้ลูกหลาน นักเรียน และประชาชนคนไทย สามารถจับต้องประวัติศาสตร์ได้ เห็นของจริง มีนักประวัติศาสตร์นำเพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงได้ โดย กอ.รมน. เป็นหน่วยงานในเรื่องการบูรณาการ ผลักดันหน่วยงานเพื่อประเทศชาติ เสริมสร้างสังคมให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ มีความรู้ ควบคู่คุณธรรม และพัฒนาความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติในอนาคตต่อไป
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า สอศ. ดำเนินความร่วมมือ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยให้มีความน่าสนใจ โดยให้เน้นการเรียนการสอน สร้างการรับรู้ คิด วิเคราะห์ เชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการใช้แหล่งประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นห้องเรียน เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน นำองค์ความรู้ไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และเกิดเป็นจริยธรรมของผู้เรียนในอนาคต ซึ่งสอศ. ได้สนับสนุน ส่งเสริม ประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ให้เกิดความภาคภูมิใจ เกิดความรัก ความสามัคคี และความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดย ระหว่าง สอศ. และ สพฐ. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ และวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยจะเป็นหนึ่งในการสร้างคน สร้างชาติ และสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติสืบไป