เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศึกษาธิการ)กล่าวภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยม ผู้บริหารระดับสูงของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)อย่างเป็นทางการพร้อมมอบนโยบาย โดยมี ดร.อัมพร  พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)และผู้บริหารสพฐ. เข้าร่วม ทั้งนี้ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สพฐ. เป็นองค์กรที่สำคัญในการดูแลจัดการศึกษา เป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุด เพราะมีบุคลากรในสังกัดมากถึง 5 แสนคน การดำเนินงานภายใต้นโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศึกษา เป็นสิ่งที่ตนตระหนัก และหลายนโยบายมีความเกี่ยวข้อง กับสพฐ.โดยตรง ทั้ง นโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ นโยบายเรื่องการแนะแนว การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู  ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ก็เกี่ยวข้องกับสพฐ. ในการพิจารณาโยกย้ายครูกลับไปอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเอง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบายหลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับการลดภาระครู และบุคลากรทางการศึกษา การลดภาระนักเรียน การสร้างอาชีพระหว่างเรียน ทั้งหมดนี้ เป็นนโยบายที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน มอบหมายให้ตนตระหนักว่า จะต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด ตนรู้ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่สำคัญ จะต้องทำให้ดีที่สุด และเข้ามาทำให้กลไกส่งเสริมการทำงานของข้าราชการมีความง่ายขึ้น จะไม่เข้ามาเป็นตัวถ่วง เป็นภาระ หรือขัดขวางการทำงาน โดยขอเน้นย้ำตามแนวทางของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ในเรื่องความเรียบง่าย การลงพื้นที่ตรวจราชการต่าง ๆ ใครไม่เกี่ยวข้องก็ขอให้ทำงานตามหน้าที่ ไม่อยากให้ มาเป็นขบวนใหญ่ ๆ ซึ่งส่วนตัวก็ไม่อยากให้ทุกคนเสียเวลา แต่ใครที่เกี่ยวข้องก็ขอให้มา เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

“ปัญหาที่ได้รับฟังข้อมูลมา ทั้งอัตราการเกิดลดลง  โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ครูไม่ครบชั้น ขาดนักการภารโรง ทั้งหมดเหล่านี้  จะต้องมีวิธีที่จะทำให้ดีขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน การยุบหรือควบรวมโรงเรียน เป็นแนวทางที่ทำกันมานาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็หวังว่า นโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ จะไปช่วยตอบโจทย์เรื่องดังกล่าว ช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก หากสามารถดำเนินการสร้างคุณภาพให้ชุมชนไว้ใจ ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน  อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องตั้งคณะทำงานในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ ส่วนการเดินหน้านโยบายแจกแท็บเล็ตนักเรียนและครูนั้น ได้ให้คณะทำงานศึกษา ว่า เบื้องต้นจะแจกจ่าย ในระดับชั้นใดจะซื้อ หรือเช่า ต้องมาดูว่าอันไหนคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้รมว.ศึกษาธิการกำลังให้แต่ละหน่วยงานไปปรับคำของบประมาณ 2567 ขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ ศธ.งบฯไหนที่ต้องแก้ไขก็ต้องแก้ไข งบฯไหนที่ยังไม่มีก็ต้องเพิ่มงบฯ โดยเฉพาะนโยบายการจัดซื้อแท็บเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ

ด้านดร.อัมพร กล่าวว่า สพฐ.มีนักเรียนที่ต้องดูแลตั้งแต่อนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้นกว่า 6.5 ล้านคน  มีโรงเรียนในสังกัด 29,315 โรงเรียน  สำหรับปัญหาที่อยากให้คิดร่วมกัน คือใน 10 ปีที่ผ่านมา อัตราเด็กเกิดน้อยลง ขณะที่การคมนาคมสะดวกมากขึ้น ประกอบกับผู้ปกครองให้ความสำคัญกับมิติด้านคุณภาพการจัดการศึกษามากขึ้น ทำให้มีสภาวะเด็กเกิดน้อยและมาเรียนในเมืองมากขึ้น  ทำให้โรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ที่อยู่ในชนบท ในหมู่บ้าน กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูไม่ครบวิชา ขณะที่ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบาย กำลังคนภาครัฐ (คปร.) ก็ยกเลิกตำแหน่งนักการภารโรง ที่เป็นลูกจ้างประจำของทุกโรงเรียน หากเสียชีวิต หรือลาออกให้ตำแหน่งยุบตามตัว ทำให้ขณะนี้บางโรงเรียนไม่มีภารโรง  ครูบางโรงเรียน ต้องมาทำหน้าที่แทนภารโรงไปด้วย รวมถึงยังกระทบเรื่องอาหารกลางวัน ทำให้ครูมีภาระงานที่ไม่ใช่งานสอนมากขึ้น

เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า อีกปัญหาหนึ่งคือ การขับเคลื่อนมิติด้านคุณภาพ ที่ยังไม่สามารถทำได้มาตรฐาน ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ส่งผลให้คะแนนการทดสอบต่าง ๆ ทั้งการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต คะแนนประเมินตาม โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ยังค่อนข้างมีปัญหา สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความท้าทายที่จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง และจากปัญหาดังกล่าว ตนจึงได้มีนโยบายเดิม อาทิ  ต้องการเห็นโรงเรียนมีความปลอดภัย และเป็นโรงเรียนแห่งความสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และความด้อยโอกาสของนักเรียน การยกระดับคุณภาพผู้เรียน แก้ปัญหาการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยสร้างโรงเรียนคุณภาพให้ไปอยู่ในตำบลต่าง ๆ ซึ่งถ้าจะปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของศธ. ก็จะต้องลดให้เหลือ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เป็นต้น

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments