*** หยอก หยอก ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 *** ท้องฟ้าไม่ได้สดใสทุกวัน ก็เหมือนกับชีวิตที่ไม่ได้แย่ทุกวัน *** บรรยากาศภายในกระทรวงศึกษาธิการช่วงนี้ช่างอึมครึมยิ่งนัก มีภาวะนิ่งงัน ยังไม่ปรากฏเหตุการณ์ใดชัดเจน พร้อมที่จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการได้ตลอดเวลา … มีใครคิดเหมือน หยอก หยอก บ้างมั้ยหนอ? แต่ก็ช่างเถอะ รอเวลา “เสมา 1” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จัดระบบบริหารจัดการ ภายใน“วังจันทร์เกษม” ดูทิศ ดูทางให้เรียบร้อยก่อนค่อยว่ากัน … ขอแต่อย่าเอาแต่ข่าวประชาสัมพันธ์ส่งให้หลายเด้อ …เกรงว่าสมองข้อยจะเป็นอัมพาตไปซะก่อน เพราะไม่ได้ใช้สมองตัวเอง…5555 *** หยุดบ่นแล้ว ปรับโหมดมาที่การบริหารงานกันบ้าง…วันก่อน ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า โครงสร้างกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)จะแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน เพื่อให้งานเดินหน้าได้อย่างสมบูรณ์ แรก ๆ ก็สงสัยว่าจะทำได้ “รึ” แต่ก็มาถึง “บางอ้อ” เมื่อรู้ว่า สกร.ได้จ้างสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ โดยมูลนิธิพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ(สปร.)ที่เขาบอกว่าเป็นมืออาชีพด้วยวงเงิน 7 หลักกลาง ๆ มาออกแบบโครงสร้าง กฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการ อัตรากำลัง วิเคราะห์ภารกิจในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับกองศูนย์ส่วนกลางของสกร.ซึ่งคาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ สปร.จะส่งกรอบงานมาให้ สกร.ตรวจทาน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) และนำเข้ากฤษฎีกาออกเป็นกฎหมายประกาศเป็นกฎกระทรวงต่อไป ซึ่ง สกร.ก็จะเป็นกรมหนึ่งเดียวในกระทรวงศึกษาธิการที่จะบริหารงานอย่างสมบูรณ์แบบ *** สุดท้ายที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้ ก็คือ อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.สอศ. ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ลงโทษข้าราชการกรณีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ชี้มูลความผิดกับผู้ร่วมดำเนินโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือ SP 2 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2553 ถ้านับถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นปีที่ 13 พอดี กลายเป็นมหากาพย์เรื่องการติดตามกระบวนการทุจริต SP 2 เพื่อหาผู้กระทำผิดมารับโทษทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และอาญา จากมูลเหตุการจัดซื้อจัดจ้างราคาครุภัณฑ์ที่สูงเกินกว่าท้องตลาดอย่างผิดปกติ โดย อ.ก.ค.ศ. สอศ.มีมติลงโทษข้าราชการ “ปลดออก”แบบยกเข่ง จำแนกเป็นข้าราชการที่อยู่ในราชการ 31 คน (ผู้อำนวยการวิทยาลัย 11 คน รองผู้อำนวยการและข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างชั่วคราว 20 คน) ผู้เกษียณราชการไม่เกิน 3 ปี จำนวน 20 คน เกษียณราชการเกิน 3 ปี จำนวน 49 คน และภาคเอกชนรูปแบบบริษัทและบุคคล จำนวน 75 คน ซึ่งเรื่องนี้สร้างความเจ็บปวดให้กับข้าราชการและครอบครัวของคนที่ยังไม่เกษียณอายุราชการเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มที่เป็นข้าราชการจะได้รับโทษทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และอาญา เป็นการลงโทษสถานหนักเอาการ …หยอก หยอก ก็ได้แต่ส่งกำลังใจ *** อย่างไรก็ตาม ตอนนี้หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกต และสงสัยว่าทำไม ป.ป.ช.ไม่ดำเนินการเพื่อหาผู้กระทำผิดหรือผู้ที่เป็นเชื้อตั้งต้นของการทุจริตที่แท้จริง ทำไมไม่แยกให้ชัดเจนออกมาว่า กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้บงการ กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ร่วมกระบวนการทุจริต และ กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ถูกสั่งและปฏิบัติงานโดยสุจริต แล้วมาแยกลงโทษต่างกรรม ต่างวาระ หนักเบาตามมูลเหตุ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยสุจริต โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในขณะนั้นควรได้รับการพิจารณาลดหย่อนโทษหรือพิจารณาความผิดจากการที่ไม่ได้จงใจแต่ถูกบังคับด้วยคำสั่งผู้บังคับบัญชาให้ต้องร่วมอยู่ในขบวนการทุจริตในเวลานั้น และเหตุใด สอศ.ซึ่งเป็นต้นสังกัด ไม่ดำเนินการสอบสวนตั้งแต่แรกและแยกไม่ออกเลยหรือว่าใครคือจอมบงการ ใครคือผู้ร่วมขบวนการ และใครถูกสั่งการให้ทำหน้าที่ตามนายสั่ง…และที่แย่ที่สุดตอนนี้คือเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ SP 2 สูญหายตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งนายถูกชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญา อันเนื่องมาจากไม่ปรากฏหลักฐานที่จะนำมาแก้ต่างจากการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง แม้ว่า สอศ.ตอนนั้นได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันว่า เอกสารดังกล่าวสูญหาย และเคยแต่งตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว แต่ก็ยังไม่มีรายงานผลการสืบข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ป.ป.ช.ชี้มูลเหตุ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนั่นเอง *** การลงโทษแบบนี้มันยุติธรรมแล้วหรือ … จะมีผลกระทบกับการทำหน้าที่ของบุคลากรในอาชีวศึกษาต่อไปหรือไม่ จากนี้ไปครูและบุคลากรที่ทำหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างจะกล้าทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ เพราะวันหนึ่งอาจจะเจอกรณีเหมือน SP2 ก็ได้ … จริงมั้ย? …  ก็แค่สงสัย ***

4.2 5 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments