เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศึกษาธิการ)กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายด้านการศึกษา ที่จังหวัดอุบลราชธานี ว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศึกษาธิการ)มอบนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข”ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเน้นย้ำว่า ความสุขที่เกิดขึ้นต้องเป็นความสุขของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องทุกคนรวมถึงชุมชนและผู้ให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนทุกคน โดยความสุขนี้จะต้องเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ซึ่งความสุข ที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายภายใต้มอตโต้ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”หมายความว่า การขับเคลื่อนนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยรัฐมนตรีว่าการ,รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการ แต่ต้องเกิดจากกลไกสำคัญ นั่นคือ ความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้ง สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา ครูผู้สอน และเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนของศธ.ที่จะต้องจับมือกันแล้วขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการจะรับฟังความเห็นจากผู้ปฏิบัติ โดย มีทีมงานกลั่นกรองความคิดเห็น เพื่อกำหนดเป็นนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อให้คนทำงานปฏิบัติแล้วมีความสุข เพราะ “เรียนดี มีความสุข”จะต้องลดภาระบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเป็นต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ความสุขเกิดขึ้นได้ เช่น ครูคืนถิ่น การโยกย้ายครู หรือผู้บริหารให้ได้กลับไปภูมิลำเนา นอกจากจะลดภาระแล้วยังมีขวัญกำลังใจ ซึ่งรมว.ศึกษาธิการ เน้นย้ำว่าจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)และสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ(สพร.)สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)กำลังยกร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ขณะที่ ก.ค.ศ.กำลังทำแพลตฟอร์มจับคู่การย้าย เพื่อให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันครูที่จะบรรจุใหม่ก็จะหาแนวทางให้ครูบรรจุในท้องถิ่นตัวเอง ทั้งนี้นอกจากจะลดภาระในด้านค่าใช้จ่ายแล้วยังต้องมีการเพิ่มรายได้ให้กับครูด้วย ซึ่งการเพิ่มรายได้หลัก ๆ ของครูก็คือการทำวิทยฐานะ โดยขณะนี้ก็มีข่าวดีว่า ก.ค.ศ.สพฐ.และศธ.กำลังปรับปรุงแนวทางการทำวิทยฐานะให้ง่ายขึ้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดมาก

“สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ตนเป็นประธาน ซึ่งตนได้หารือกับคณะกรรมการชุดเดิมเพื่อให้การแก้ไขปัญหาฯได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยคณะทำงานกำลังหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ สำหรับโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ซึ่งเป็นนโยบายหลักข้อหนึ่งของ ศธ.ต่อไปนี้ โรงเรียนคุณภาพจะต้องเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง โดยจะมีการออกระเบียบเรื่องการรับบุคลากรของโรงเรียนคุณภาพ ทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ถ้าทำได้ตามตัวชี้วัดจึงจะถือว่าเป็นโรงเรียนคุณภาพ ไม่ใช่แค่เอางบประมาณไปลงอย่างเดียว แล้วมีอาคารครบ มีโรงอาหาร มีห้องเรียนต่าง ๆ ก็บอกว่าเป็นโรงเรียนคุณภาพ แต่ต่อไปนี้โรงเรียนคุณภาพต้องมีตัวชี้วัดที่มากกว่าและแตกต่างจากโรงเรียนปกติทั่วไป นอกจากเรื่องระบบแนะแนว การชี้เป้าหมายชีวิตให้นักเรียนเป็นสิ่งที่ศธ.ให้ความสำคัญ ที่เราจะต้องสร้างครูแนะแนวให้ได้มาก ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนอย่างมาก เพราะสิ่งสำคัญของการเรียนที่ประสบความสำเร็จ ที่ รมว.ศึกษาธิการ เน้นย้ำ คือ เรียนแล้ว ต้องมีงานทำ มีอาชีพ มีความมั่นคงในชีวิต ถึงแม้จะจบปริญญาตรี โท เอก แต่ถ้าไม่มีงานทำก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ถ้าจบ ปวช.ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะฉะนั้นการแนะแนวเป็นสิ่งสำคัญ”นายสุรศักดิ์ กล่าวและว่า เรื่องสวัสดิการครูอีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยลดภาระให้ครูได้ ก็คือเรื่องของบ้านพักครูที่นอกจาก สพฐ.จะเสนอของบประมาณปรับปรุงบ้านพักครูแล้ว ยังกำลังคิดโครงการแฟลตครู โดยจะหาสถานที่ที่เหมาะสมมาสร้างแฟลตให้ครู ซึ่งเป็นการลดภาระให้กับครู สุดท้าย เรื่องการคืนครูธุรการให้กับโรงเรียน และคืนนักการภารโรงให้กับโรงเรียน เพื่อลดภาระของครูในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเรื่องนี้ ศธ.เข้าใจปัญหาและกำลังหาทางแก้ไข ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ สพฐ.ที่รับนโยบายไปดำเนินการ

นอกจากนี้ รมช.ศึกษาธิการยังได้มอบผ้าห่มให้แก่นักเรียนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วย

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments