เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร ศธ. ว่า ที่ประชุมหารือการเตรียมความพร้อมการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ปี 2025 ซึ่ง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพิ่มคะแนน PISA ให้มากขึ้นจากการประเมินในปี 2022  ซึ่งทุกหน่วยงานพร้อมให้ความร่วมมือ และมีแผนที่จะดำเนินการร่วมกัน อย่างไรก็ตามถึงแม้ ศธ.จะเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจะต้องมีเวทีพูดคุยวางแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอน ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน โดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้มีตัวเลขคะแนนดีขึ้น  โดยในส่วนของ ศธ.ได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ โดย สกศ.ได้เสนอให้ยกระดับการพัฒนาการสอบ PISA อยู่ในแผนพัฒนาประเทศระดับ 3 แล้ว แต่จะต้องให้บอร์ก สกศ.ที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้เร็ว เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แต่เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการ เพราะไม่ได้เน้นไปที่การเพิ่มคะแนนสอบในปี 2025 เพียงอย่างเดียว โดยจะต้องมองระยะยาว ดังนั้นการกำหนดแผนพัฒนาประเทศโดย มีแผนพัฒนาการสอบ PISA อยู่ในแผนพัฒนาประเทศระดับ 3 จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ส่วนการดำเนินการเฉพาะหน้าที่จะสอบในปี 2025 หรือ ปี พ.ศ.2568 นั้น จะมีเวลาเตรียมความพร้อมเพียง 1 ปี ก็ได้กำชับให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งพัฒนาทักษะนักเรียน ทั้งการอ่าน และวิเคราะห์ ไม่ใช่การท่องจำ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลาย จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจังและเข้มข้น พัฒนาห้องสมุด เพิ่มแบบประเมินการฉลาดรู้ สร้างความคุ้นชินกับการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสอบ PISA รอบถัดไป

“สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ยังตั้งคณะกรรมการ PISA ชุดใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียน ครู ทุกสังกัดให้มีความเข้าใจการวัดผลและประเมินผลข้อสอบ PISA โดยจะมีการจัดเตรียม สื่อ หนังสือเรียน เครื่องมือให้ครูได้ฝึกการสอน การใช้คำถามและเหตุผลการวิเคราะห์เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคย และเตรียมแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการเรียนการสอน PISA โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม  รวมถึงเรื่องการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ  ได้ตั้งคณะทำงานเข้ามาดูแลแล้ว ขณะเดียวกันสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาก็ต้องพัฒนาครูในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการมีโรงเรียนคุณภาพจะเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อเป็นต้นแบบในการเรียนการสอน กระจายไปในโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศ”นายสุรศักดิ์กล่าวและว่า นอกจากนี้ สกศ.ยัง ได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเสนอให้ครม. เห็นชอบต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments