เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ  ว่า การประชุมวันนี้ถือเป็นการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้ครูฯแบบเต็มรูปแบบครั้งแรก โดยมีคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานต่าง ๆ  ทั้งสถาบันการเงิน ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยในการประชุมได้มีการหารือถึงมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครู โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำทันที คือ การเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ หลายโครงการ ซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 และ กำลังจะสิ้นสุดมาตรการลงในเดือนธันวาคมนี้  ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้ทำหนังสือขอขยายมาตรการช่วยเหลือครูไปถึงสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 13 แห่ง ซึ่งสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็พร้อมให้ความร่วมมือแล้ว

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะทำงาน เพื่อยกร่างMOU ฉบับใหม่ด้วย โดยเนื้อหาของร่าง MOU จะต้องสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้สินครู และแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาล รวมถึงการให้สถาบันการเงินสามารถหักเงินเดือนครูเพื่อชำระหนี้ได้ ร้อยละ 70 เพื่อให้ครูมีเงินเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 30 หากครูมีเงินเหลือไม่พอกับยอดเงินที่ตกลงไว้ ก็ขอความร่วมมือไม่ให้ฟ้องร้องครู ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำลังเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอลดอกเบี้ยเงินกู้ และขยายเงินงวดอยู่

“นายกฯลงมาเป็นแม่งานแก้ไขหนี้สินทั้งระบบด้วยตัวเอง และจะนำโมเดล การหักเงินเดือนให้มีเงินเหลือใช้ในชีวิตประจำวันร้อยละ 30 ไปใช้กับกระทรวงอื่นด้วย ซึ่ง ศธ.ก็จะแก้ปัญหาหนี้สินครู ไปพร้อม ๆ กับรัฐบาล เชื่อว่า การแก้หนี้ครูครั้งนี้น่าจะเห็นผลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งการหารือวันนี้บรรยากาศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในภาพรวมครู 9 แสนคนทั่วประเทศ กว่าร้อยละ 80 มีหนี้สินรวม 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ กว่า 8.9 แสนล้าน คิดเป็นร้อยละ 64 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน กว่า 3.49 แสนล้านบาท หรือ ร้อยละ 25 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด และหน่วยงานอื่น ๆ อีกร้อยละ 11  และเท่าที่ดูตัวเลขครูที่เป็นหนี้วิกฤตสีแดง มีอยู่ประมาณ 2,000 คน  แต่ที่น่าห่วง คือ กลุ่มสีเหลือง หนี้ใกล้วิกฤต ซึ่งมีอยู่กว่าแสนคน  ส่วนกลุ่มสีเขียว ส่วนตัวผมไม่กังวล เพราะหากมีมาตรการช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ก็จะทำให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้น”นายสุรศักดิ์กล่าวและว่า ทั้งนี้ คาดว่าMOUฉบับใหม่ จะแล้วเสร็จทันเข้าที่ประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ครูฯ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments