เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566   พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารทุกองค์กรหลัก ลงพื้นที่ปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี โดย นายสิริพงศ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทำให้มีสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ ส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งต้องประกาศหยุดเรียน มีนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และมีสถานศึกษาที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ศธ. มีความห่วงใยและมีการเตรียมแผนในการให้ช่วยเหลือผูประสบภัย โดยมีแผนการดำเนินงานใน 5 ประเด็นสำคัญ

ประเด็นที่ 1 การดำเนินการในระยะเร่งด่วน โดยมีภารกิจสำคัญคือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นในทันทีที่เกิดเหตุ มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีฉุกเฉิน การช่วยประชาชนขนย้ายข้าวของ การแก้ปัญหาระบบไฟฟ้า หรือตรวจสอบความมั่นคงของอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะเรื่องอาหารน้ำดื่มและถุงยังชีพ ศธ. มีหน้าที่ในการประสานงานเพื่อขอรับการสนับสนุนหรือขอรับการช่วยเหลือเพื่อดูแลประชาชนอย่างทันท่วงที

ประเด็นที่ 2 การให้การช่วยเหลือในระยะฟื้นฟู หลังจากการให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว เมื่อระดับน้ำลดลงก็ต้องเริ่มวางแผนการให้บริการช่วยเหลือในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย โดย ศธ. มีศูนย์อาชีวะ ช่วยประชาชน หรือศูนย์ Fix it Center ให้บริการพี่น้องประชาชนด้วยจิตอาสาอาชีวะ และจิตอาสาของชาวกระทรวงศึกษาธิการ โดยประสานความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการช่วยเหลือประชาชน เป็นการร่วมมือร่วมใจ บูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน

ประเด็นที่ 3 กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายต้องให้การช่วยเหลือในทันที การสำรวจความเสียหายของอาคารเรียนในสถานศึกษาทุกสังกัด อาคารบ้านเรือนของนักเรียน ครูและบุคลากรทุกคน รวมถึงการให้การช่วยเหลือประชาชนทั่วไปเช่นกัน

ประเด็นที่ 4 ขอให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติงาน

ประเด็นที่ 5 การสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ ไปยังประชาชนถึงข้อปฏิบัติในการเผชิญเหตุ หรือการแจ้งเตือนสถานการณ์หรือเหตุที่จะขึ้น รวมถึงการรายงานแผนและผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้ทราบว่า ศธ. ดำเนินการอย่างไร มีจุดบริการช่วยเหลือบริเวณไหนบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างเต็มที่

“ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่ากระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษาอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้บุคลากรได้รับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาได้ทันสถานการณ์ ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น สร้างขวัญกำลังใจให้ทุกคนได้รับทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีความห่วงใยและพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนทุกคน พร้อมปฏิบัติงานตามแนวทางของ รมว.ศธ. ทำดี ทำได้ ทำทันที ทำได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้องรอรัฐมนตรีหรือผู้บังคับบัญชาสั่ง” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. กล่าว

จากนั้นคณะได้ไปตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ  รมว.ศึกษาธิการ ที่ โรงเรียนวรพัฒน์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล – ป.6 แบบ 2 ภาษา โดยเน้นการนำหลักการเรียนรู้แบบนำตนเอง (Active Learning) เป็นพื้นฐานในการออกแบบหลักสูตร จัดประสบการณ์ จัดการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เน้นการพัฒนาสมรรถนะของสมอง (Executive Function: EF) เพื่อพัฒนาพื้นฐานการคิดและการใช้ชีวิตที่สำเร็จ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลักที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิต

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments