เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่กระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานรับฟังข้อคิดเห็นของสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี 2567 โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนสภานักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 78 คน ครูที่ปรึกษาสภานักเรียน 78 คน ผู้บริหารและคณะทำงาน ร่วมรับฟัง

นายธนกฤต พิพัฒน์รัตนกุล ประธานสภานักเรียน ระดับประเทศ ปี 2567 กล่าวว่า ตนและคณะกรรมการสภานักเรียน ได้ร่วมกันนำเสนอข้อคิดเห็นสภานักเรียนจากการประชุมสภานักเรียน ต่อรมว.ศึกษาธิการ โดยมองว่าการศึกษาของสังคมไทยในปัจจุบันควรคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญในการสร้างความเข้าใจและพัฒนาวิถีประชาธิปไตย ซึ่ง จากการระดมความคิดเห็นในการจัดอบรมสภานักเรียน ระดับประเทศ โดยสภานักเรียนและครูที่ปรึกษาสภานักเรียน ได้ระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องวิถีประชาธิปไตย ทำให้พวกเราได้รับการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ตามสถานการณ์ต่าง ๆ ในบริบทของสถานศึกษา สังคม ชุมชน และประเทศชาติ และได้สรุปประเด็นปัญหา 4 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1) การมีส่วนร่วมของสภานักเรียนในบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษา ขอรับการสนับสนุน 3 ประเด็น 1. การสนับสนุนให้สภานักเรียนได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามโครงสร้างและสัดส่วนของขนาดโรงเรียน 2. การเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบและวางแผนในการจัดการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนและศักยภาพของตัวนักเรียน และ 3. การเข้าไปมีส่วนร่วมในการวัดผลและประเมินผลการจัดการศึกษาในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในสถานศึกษานั้น ๆ

2) การรู้จักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของตนเองอย่างลึกซึ้ง ขอรับการสนับสนุน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. ส่งเสริมให้เพื่อนนักเรียนและผู้คนในชุมชนตระหนักรู้ถึงประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง 2. ส่งเสริมให้เพื่อนนักเรียนและผู้คนในชุมชนได้มีการศึกษาประวัติศาสตร์จากลึกซึ้งและสร้างสรรค์ 3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านโลกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และ 4. ทีมสภานักเรียนมีการพูดคุยที่จะพัฒนากิจกรรมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาการศึกษาการศึกษาประวัติศาสตร์ภายใต้แนวคิด TSC The Best History สืบสาน สร้างสรรค์ แบ่งปันอดีต ที่จะเป็นการสืบสานประวัติศาสตร์แนวใหม่ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์

3) การรู้จักรักษามารยาทในการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน ขอรับการสนับสนุน 3 ประเด็น คือ 1. ขอรับการส่งเสริมให้มีโครงการการลดปัญหาการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน 2. ขอรับการสนับสนุนให้โรงเรียนให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาในการใช้โทรศัพท์ในเวลาเรียน และ 3. ส่งเสริมให้มีการติดตามการแก้ปัญหาที่ใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนอย่างต่อเนื่อง

4) การส่งเสริมแนวทางการป้องกันการบูลลี่ในสถานศึกษา ขอรับการสนับสนุน 4 ประเด็น คือ 1. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการนำประเด็นปัญหานี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อถกเถียงและพิจารณาออกแบบข้อบังคับ กฎเกณฑ์ หรือร่างกฎหมายที่เอื้ออำนวยในการคุ้มครองบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการบูลลี่ เพราะปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก และพระราชบัญญัติความมั่นคงทางโลกไซเบอร์ ยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่รองรับผู้ได้รับผลกระทบหรือเหยื่อจากการบูลลี่ได้ชัดเจน 2. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาโรงเรียน เข้าประจำโรงเรียน มาทำการอบรมให้ความรู้และรองรับเหยื่อจากการบูลลี่ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียมากขึ้น 3. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการออกร่างกฎเพื่อให้สถานศึกษาทั่วประเทศได้แก้ไขเรื่องของการบูลลี่ในสถานศึกษาอย่างเข้มงวดครอบคลุม และ 4. สภานักเรียนจะรวบรวมผลจากการบูลลี่ก่อให้เกิดเป็นโครงการให้ความรู้ความเข้าใจการรับมือกับการบูลลี่ภายในสังคมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจ และการอบรมเชิงปฏิบัติทั้งในสถานศึกษาและภาคีเครือข่ายของเยาวชนทั่วประเทศ

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ได้ชื่นชมการแสดงพลังของสภานักเรียนและรับฟังข้อคิดเห็นของสภานักเรียนจากคณะกรรมการสภานักเรียนระดับประเทศปี 2567 พร้อมมอบโอวาท และกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กและเยาวชน และเน้นย้ำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มาพบกับสภานักเรียน โดยสำหรับประเด็นข้อคิดเห็นทั้ง 4 ข้อหลักที่ได้นำเสนอต่อรัฐมนตรีนั้น นับเป็นเรื่องที่ดีที่เกิดจากกระบวนการคิดจากระบบประชาธิปไตยและสะท้อนออกมา แต่ขอฝากว่า “การมองโลกต้องมองให้กว้าง” และขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ได้นำหลักคิดข้อเสนอของสภานักเรียนที่เป็นประโยชน์ ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

“ในส่วนของข้อเสนอนั้น เรื่องแรก ประเด็นเรื่อง “การมีส่วนร่วม” ปัจจุบันเรามีส่วนร่วมเยอะ แต่เรื่องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการวัดผลและประเมินผลในการจัดการศึกษา ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในสถานศึกษานั้น ๆ สภานักเรียนไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ เพราะเราเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังหลักการที่ว่า บุคคลใดถ้ามีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องใดไม่ควรมีสิทธิ์ออกเสียงในเรื่องนั้น ๆ ในส่วนของเรื่องการสนับสนุนให้สภานักเรียนได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบและวางแผนในการจัดการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนและศักยภาพของตัวนักเรียน ขอรับไว้พิจารณา และสำหรับประเด็นที่ 2 เรื่องประวัติศาสตร์เป็นจุดเน้นหนัก และขอเน้นย้ำว่า การจะเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต้องเรียนจากปราชญ์ชาวบ้านหรือคนเฒ่าคนแก่ในบ้านเรา โลกออนไลน์ไม่มีในท้องถิ่น ถ้าจะมี สภานักเรียนต้องไปเรียนรู้และมาโพสต์ใส่ในออนไลน์ อย่างวิธีขุดไส้เดือน เราต้องไปถามผู้รู้ว่า ไส้เดือนแบบไหนตกปลาชนิดไหน เราต้องหาจากปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น พระสงฆ์องค์เจ้า ผู้เฒ่าผู้แก่ หรืออย่างเช่น จังหวัดน่าน บ่อเกลือทำไมถึงเป็นบ่อเกลือ จึงขอฝากไว้ว่า ประวัติศาสตร์ไม่ควรเรียนรู้เฉพาะท้องถิ่น ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์สากล เช่นการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทก็เป็นการศึกษาตามรอยพระองค์ท่านว่าพระองค์ท่านทรงทำอะไรบ้าง รวมถึงประวัติศาสตร์สากล เช่น ทำไมอิรักและลิเบียรบกันเพราะเขาไม่มีความรักความสามัคคี ดังนั้น พวกเราต้องช่วยกันสร้างความรักสามัคคี สร้างความเป็นชาติ อย่าให้บุคคลภายนอกมายุแยงเราให้แตกแยก

รมว.ศึกษาธิการ ยังได้กล่าวถึงในเรื่องการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน เราต้องดำเนินการ 2 อย่าง อย่างที่ 1 หากกล่าวถึงมิติความเป็นวิถีไทย การดำเนินการส่วนใหญ่ก็จะมีแนวความคิด และบอกให้คนนั้นทำ คนนี้ทำ แต่ตัวเราเองไม่ทำ ดังนั้น ทุกที่ที่เราอยากทำมันอยู่ในโรงเรียน เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นตัวอย่างก่อน เราจะไม่ใช้โทรศัพท์ในโรงเรียนที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน และเราต้องไปชี้แจงให้กับนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนว่าไม่ใช้ และจริง ๆ แล้ว อย่างที่ 2 ระเบียบกฎหมายก็เป็นสิ่งจำเป็นเหมือนกัน กรณีที่พูดกันไม่รู้เรื่อง แต่สภานักเรียนเป็นเด็กยุคใหม่ พูดกันรู้เรื่อง ถ้าพวกเราสามารถสื่อสารกันในการไม่ใช้มือถือในห้องเรียนได้ จะเป็นสิ่งที่ดีสุด หรือเราเรียกว่า “การมีส่วนร่วมของพวกเราพวกเราต้องไปดำเนินการ” แต่ถ้าทำไม่ไหวก็ให้มาบอกกระทรวงศึกษาธิการออกกฎหมายบังคับ แต่โดยส่วนตัวรัฐมนตรีไม่อยากบังคับ อยากให้เรามีความเสรี มีความเป็นประชาธิปไตยในสถานศึกษาของเรา มีการคุยกัน วิพากษ์กัน ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เพราะการให้กระทรวงออกกฎหมายบังคับเป็นเผด็จการ และในเรื่องที่ 4 การส่งเสริมการป้องกันความรุนแรงด้วยการบูลลี่ พวกเราเป็นสภานักเรียน เราต้องมีกลุ่มพวกเรา กลุ่มรุ่นพี่พวกเรา ป.5 ป.6 ม.5 ม.6 เป็นรุ่นพี่ดูน้อง ๆ เป็นเกราะให้น้อง ๆ เป็นพี่เลี้ยงน้อง ๆ แต่ถ้าเราทำไม่ไหวค่อยมาบอกกระทรวงเพื่อจะออกกฎให้ “หลักการประชาธิปไตยเป็นหลักพวกเราดูแลกันเองปกป้องกันเองก่อน” จึงขอให้กลับไปคุยกันอีกครั้งแล้วแจ้งรัฐมนตรีว่า เรื่องใดจะขอรับการสนับสนุนอย่างไร

“ขอให้ระลึกถึงคำพูดของรัฐมนตรีในวันนี้ที่ได้มอบโอวาทและสอนรูปแบบการทำงาน และขอมอบเหรียญวันเด็กแห่งชาติ 13 มกราคม 2567 เป็นของที่ระลึก ที่ระลึกไม่ใช่ที่ระลึกอย่างเดียว แต่เป็นที่ระลึกเพื่อจะได้จดจำคำแนะนำของรัฐมนตรีว่า เรามาสู่วิถีทางประชาธิปไตยแล้ว เพราะฉะนั้นอย่ากลับไปสู่เผด็จการ อย่ากลับมาเรียกร้องให้รัฐมนตรีออกระเบียบข้อบังคับไปสั่งการ เราแก้ไขของเราเองได้ในโรงเรียนของเรา เพราะเราจะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า เราจะต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อน พี่ดูแลน้อง เพื่อนดูแลเพื่อน ถ้าดูแลไม่ได้ค่อยมาหารัฐมนตรี อันไหนอยากจะให้ออกระเบียบ ให้มาบอก แต่รัฐมนตรีคิดว่าเราดูแลกันได้ สื่อสารกันเองได้ และในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ขอเน้นย้ำนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการที่ว่า “เรียนดี มีความสุข” อยากให้พวกเราทุกคนมีความสุข ต้องมีความสุขไม่ว่าผู้เรียนหรือผู้สอน เมื่อมีความสุขแล้วการเรียนก็จะดีขึ้น อะไรที่มีความสุขทำ อยากให้มีความคิดที่เปิดกว้าง รับรู้สังคม รับรู้ข้อมูลข่าวสาร เปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้น และหากมีเรื่องอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ก็สามารถที่จะมาพบรัฐมนตรีได้ตลอดเวลา” พลเอก เพิ่มพูนฯ กล่าว

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments