วานนี้ (11 เมษายน 2567) เวลา 09.30 – 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสาธารณรัฐฝรั่งเศส หรือ 14.30 – 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษาหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษา (EDPC) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนของประเทศรับเชิญพิเศษ (Non-member Economy) ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษา สมัยที่ 35 (35th Session of Education Policy Committee) พร้อมด้วย นายภูมิพัทธ เรืองแหล ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา และ นางสาวสุปราณี คำยวง รองผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11-12 เมษายน 2567


ดร.อรรถพล กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับทิศทางการทำงานของคณะกรรมการ EDPC ที่มุ่งเน้นไปในการสร้างแนวทางการศึกษาที่ยั่งยืนและเข้าถึงได้ง่าย คณะกรรมการให้ความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านแผนงานและความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านโครงการ South East Asia Reginal Program โดยในปี 2024 (2567) มีประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกทางการ ที่ได้แสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมใน OECD และมีการประชุมแลกเปลี่ยนแผนงานร่วมกัน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย ซึ่งเป็นนิมิตรอันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความสัมพันธ์ทางการค้า แนวคิดประชาธิปไตย แรงงาน และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทรัพยากรมนุษย์

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า นอกเหนือจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและอิทธิพลต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอิทธิพลและความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงการนำ Genetative AI (ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง) โดยผลการสำรวจพบว่าการลงทุนแบบ Generative AI เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดหลักสูตร AI มีเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถาบันการศึกษาเล็งเห็นประโยชน์มหาศาลของ AI ที่สามารถใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของครู ช่วยครูในการวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียน จัดทำรายงานและแผนการเรียนรู้ และสร้างเนื้อหาการสอนที่ปรับให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน นอกจากนี้ AI ยังสามารถใช้เพื่อพัฒนาวิธีการสอนใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้แสดงข้อกังวลเชิงปฏิบัติที่เกิดขึ้นทันที เช่น การต่อสู้กับความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ ไปจนถึงคำถามที่ลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับประเภทของทักษะที่นักเรียนจำเป็นต้องพัฒนาสำหรับโลกแห่งการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับ AI ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนจริง และวิธีสนับสนุนผู้เรียนให้เกิดการพัฒนาที่ดีที่สุด โดยคณะวิจัยได้มีการลงพื้นที่สอบถามการใช้งาน AI จากครูและนักเรียน ซึ่งปัจจุบันยังพบปัญหาการใช้งาน ซึ่งจำเป็นต้องจัดทำคำแนะนำ (Guideline) ให้ครอบคลุม และมีตัวชี้วัดที่อ้างอิงได้มากพอ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ส่งกระทบต่อพัฒนาการของผู้เรียน ในด้านความปลอดภัย

อีกประเด็นที่น่าจับตาคือการเปลี่ยนแปลงสังคมสีเขียว (Green Transition) ที่จะต้องส่งผลต่องานและทักษะที่จำเป็นในอนาคต การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะต่อสุขภาพ งาน และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงสีเขียวที่ส่งผลเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยการช่วยให้คนงานที่ถูกแทนที่เปลี่ยนไปสู่งานและภาคส่วนใหม่ๆ และเพิ่มผลผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และนวัตกรรม ทั้งนี้ OECD ได้ร่วมมือกับ london school of economics จัดทำผลสำรวจในประเทศอังกฤษ พบว่า ผู้ประกอบการที่จัดฝึกอบรมทักษะเชื่อว่าทักษะเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า (EVs) แต่ช่างส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านนี้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับไม่มีการสนับสนุนหรือจัดทำหลักสูตรในภาคการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าหรือการเพิ่มพูนทักษะ (Upskilling) สายช่างที่กำลังขาดแคลน ทั้งที่ รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศว่าจะหยุดขายรถสันดาปภายในปี 2035 (พ.ศ. 2578) หลังพบว่าการคมนาคมขนส่งได้ปล่อยก๊าสเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 26 ของจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศเมื่อปี 2021

สำหรับการประเมิน PISA 2022 (พ.ศ.2565) มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15ปี จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยมีประเทศเอลซาวาดอร์ จาไมก้า มองโกเลีย ปาเลสไตน์ และอุซเบกิสถาน เข้าร่วมเพิ่มจากเดิม ขณะนี้ OECD ได้เผยแพร่รายงาน PISA ฉบับที่ 1 เรื่อง The state of Learning and Equity in Education และ ฉบับที่ 2 Learning During – and From – Disruption ส่วนปี 2024 จะมีการเผยแพร่อีก 3 ฉบับที่เหลือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และ ความพร้อมของผู้เรียนสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Student readiness for life-long learning) ผลการทดสอบในปี 2022 พบว่าประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง 15 คะแนน (ไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่าลดลงถึง 25 คะแนน)

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาครั้งที่ 35 คณะกรรมการได้อภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าในโครงการ งบประมาณและแผนงานในอนาคต โดยแบ่งตามหัวข้อคการประชุม ดังนี้ 1) รายงานความก้าวหน้าโครงการและงบประมาณประจำปี 2023-2024 2) แผนงานและงบประมาณประจำปี 2025-2026 3) รายงานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในแวดวงการศึกษา (Thematic discussion on Artificial Intelligence in Education) 4) การปรับปรุงคุณภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษาของโรงเรียนในประเทศนิวซีแลนด์ (Improving quality and equity in school education in New Zealand) 5) รายงานความคืบหน้าโครงการ “Building stronger skills through social dialogue: the power of stakeholder engagement in education and skills policy” 6) ผลการประชุมสุดยอดทักษะปี 2024 (Skills Summit 2024) 7) โครงการ “Beyond degrees: Empowering the workforce in the context of skills-first” ว่าด้วยโอกาสและข้อจำกัดโดยวัดจากทักษะแรงงานตามความต้องการของตลาดแรงงานมากกว่าคุณวุฒิทางการศึกษา และ 8) การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการศึกษาแบบใหม่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย: แนวทางการวิเคราะห์และสังเคราะห์และงานด้านการประเมินและการรับรองทางการศึกษา (Transitions in Upper Secondary Education: Guidance on the preparation of the synthesis report and work on assessment and certification)

อนึ่ง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับองค์การโออีซีดีทางด้านนโยบายการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาของ OECD ในเดือนเมษายนและพฤศจิกายน การเข้าร่วมประชุม EDPC ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำและพัฒนานโยบายการศึกษาของประเทศในระดับต่าง ๆ ให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและแข่งขันได้กับนานาชาติ รวมถึงกำหนดทิศทางตามแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาในอนาคตด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments