เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทย ไตรมาส 1 พ.ศ. 2567 โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารและบุคลากร สกศ. ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.

ดร.อรรถพล กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทย เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทย บริบทและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ใช้ประกอบการจัดทำนโยบายทางการศึกษา และได้พัฒนารูปแบบวิเคราะห์สภาวะการศึกษาไทย ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน สำหรับ ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2567 (ม.ค. – มี.ค. 2567) พบว่าสถานการณ์แรงงานกับการศึกษา ภาพรวมปี 2566 การจ้างงานขยายตัวในทุกสาขา และมีแนวโน้มดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสสี่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาในทุกระดับการศึกษา แต่ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวศึกษา และสถานประกอบการมีความต้องการการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับการใช้ AI เพิ่มขึ้น -ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก พบว่า ปี 2566 เยาวชนที่มีอายุ 15 – 17 ปี เป็นกลุ่มที่กระทำผิดมากที่สุด -สถานการณ์เศรษฐกิจกับการศึกษา ภาพรวมปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจาก ปี 2565 ผลจากการสำรวจครัวเรือน พ.ศ. 2566 (6 เดือนแรก) พบว่า ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเป็นหนี้สินที่ใช้ในการศึกษา ร้อยละ 1.2 -สภาวะการมีงานทำ จากการสำรวจสภาวการณ์ทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 4 (ต.ค. – ธ.ค. 2566) พบว่า มีกำลังแรงงานทั้งสิ้น 40.58 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 0.33 ล้านคน (ร้อยละ 0.8) โดยผู้มีงานทำจำนวนถึงร้อยละ 54.4 สำเร็จการศึกษาในระดับการศึกษาภาคบังคับหรือต่ำกว่า และมีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอยู่ร้อยละ 24.3 การศึกษาไทยวิกฤติหรือไม่ และอยู่จุดไหนในมาตรฐานระดับสากล : ผลการทดสอบ PISA 2022 ประโยชน์สำคัญที่ประเทศไทยได้จากการเข้าร่วมโครงการ PISA คือได้ข้อมูลสภาพที่แท้จริง เร่งแก้ไขจุดอ่อนของระบบการศึกษาโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ทั้งนี้บทเรียนโควิด – 19 สู่การสร้างภูมิคุ้มกันทางการศึกษา : ฉากทัศน์ทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาไทย พ.ศ. 2570 ได้แก่ 1) นโยบายการศึกษาควรเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด การทำฉากทัศน์ทางการศึกษาเป็นแนวทางลดความเสียหายหากเหตุการณ์ไม่คาดคิด 2) เป้าหมายสำคัญที่สุดของฉากทัศน์อยู่ที่การสร้างความตระหนักถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งผู้บริหารทุกหน่วยงานต้องสามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือลดผลกระทบที่เกิดให้เหลือน้อยที่สุด และ 3) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามุ่งหวังที่จะกระจายแนวความคิดเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้อย่างเป็นระบบให้เป็นหนึ่งในแนวคิดหลักในการทำงานให้แก่หน่วยงานทางการศึกษาทุกหน่วยงาน

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า เมื่อ AI ทำได้ทุกอย่าง และมีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์ การประยุกต์ใช้ AI ในการวางแผนการศึกษา การนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาให้มีความรวดเร็ว ถูกต้องและได้สารสนเทศเชิงลึก ควรนำหลักการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) มาใช้ควบคู่ในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลจนถึงการนำเสนอและการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ด้านการวางแผนการศึกษาต้องคำนึงถึงข้อพึงระวังด้านความถูกต้อง  ความเอนเอียงและความไม่ครบถ้วนของผลการวิเคราะห์ ปัญญาประดิษฐ์เป็นเพียงเครื่องมือช่วยสนับสนุนการดำเนินงานสิ่งสำคัญคือการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความสามารถ ความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการนำปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูลมาใช้สนับสนุนในการดำเนินการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทยจะทำให้การดำเนินการมีความสะดวก รวดเร็วมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น และเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ข้อมูลมีความทันสมัยทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเกิดประโยชน์ในการพัฒนาด้านการศึกษาต่อไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments