หลังจากปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)โดยนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทุ่มงบฯก้อนโต ถึง 4,000 ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาครูให้ครบวงจร…หวังจะให้ครูได้พัฒนาเพื่อนำไปต่อยอดให้กับนักเรียน เรียนอย่างมีคุณภาพ และเรียนอย่างมีความสุข ตามเป้าหมายของรัฐบาล…โดยมอบหมายให้ สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา(สพค.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)รับผิดชอบ เป็นเจ้าของโครงการ แต่เพราะเป็นนโยบายเร่งด่วน..เร่งรีบ..จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ ครูแตกตื่นกับคูปองครูหัวละ 10,000 ที่ให้ครูเลือกช้อปปิ้งหลักสูตรอบรม…ผลที่ตามมาจึงไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ของเสมา1 ผู้กุมบังเหียนในวังจันทร์เกษม

เพราะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ ประกอบกับได้รับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งนักวิชาการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงเรื่องของงบประมาณ คุณภาพวิทยากร หลักสูตร ราคา และการเดินทางของครู  รวมถึงผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาครูในปี 2560  ซึ่ง ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณอบรมหรือคูปองให้แก่ครู สำหรับปีนี้ ซึ่งเป็นการจัดโครงการพัฒนาครูแบบครบวงจร ระยะที่ 2 ปีนี้จะคุมเข้มมากขึ้น โดยจะมีหลักการที่สำคัญ  4 เรื่อง คือ  1. การคัดเลือกหลักสูตรให้เป็นหน้าที่ของสถาบันคุรุพัฒนา ที่จะพิจารณาว่า หลักสูตรที่หน่วยจัดอบรมเสนอมา เป็นอย่างไร เป็นไปตามหลักวิชาการหรือไม่  เมื่อสถาบันคุรุพัฒนาพิจารณาหลักสูตรเรียบร้อยแล้วก็จะส่งหลักสูตรนั้นมาที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งสพฐ.ก็จะพิจารณาโดยคณะกรรมการ 2 คณะ คือคณะกรรมการประเมินและคัดเลือกหลักสูตร เพื่อประเมินความเหมาะสม ในการนำหลักสูตรไปใช้ ในการพัฒนาข้าราชการครูของสพฐ. โดยมีนางสุกัญญา งามบรรจง รองเลขาธิการกพฐ.เป็นประธาน และคณะกรรมการประเมินความเหมาะสมราคาค่าลงทะเบียนหลักสูตร ให้สอดคล้องตามระเบียบของกระทรวงการคลัง โดยมีนายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ กพฐ.เป็นประธาน เพื่อให้มั่นใจว่า หลักสูตรนั้น ๆ มีความเหมาะสมกับการนำมาพัฒนาครูอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.หรือไม่

เรื่องที่ 2. ค่าลงทะเบียนมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะไม่ว่าหน่วยจัดอบรมจะเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐ สพฐ.ก็ต้องอนุมัติภายใต้กรอบระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และที่สำคัญมาตรการประหยัดของ สพฐ. ซึ่งมีการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด เพราะ สพฐ.มีภาระต้องดูแลครูกว่า 400,000 คน  เรื่องที่ 3. คุณภาพหลักสูตร ซึ่งจะมีการติดตามประเมินว่า หน่วยจัด หรือหน่วยพัฒนา ได้ทำตามเงื่อนไขการจัดอบรมหรือไม่  โดย สพฐ.จะมีคณะกรรมการประเมินหลักสูตร ประกอบด้วย  ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) และผู้แทนครูที่เข้ารับการอบรม มาช่วยกันประเมินว่า สิ่งที่หน่วยจัดโฆษณาประชาสัมพันธ์กับสิ่งที่จัดอบรมเป็นอย่างไร หากไม่ผ่านการประเมินและไม่ทำตามเงื่อนไขที่เสนอกับสถาบันคุรุพัฒนา สพฐ.ก็จะแจ้งให้สถาบันคุรุพัฒนาเพิกถอนการอนุมัติหลักสูตร ซึ่งจะส่งผลให้ไม่สามารถเบิกเงินที่จัดอบรมได้ และ เรื่องที่ 4  จะมีการกำหนดระยะทางในการเดินทางไปอบรมของครู โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกันแล้วว่า จะให้อยู่ในกลุ่มจังหวัด เพราะไม่อยากให้ครูเดินทางไกล ซึ่งนอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงแล้ว อาจต้องเบียดบังเวลาราชการที่จะต้องอยู่กับเด็กได้

นพ.ธีระเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ได้พูดถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า ขณะนี้ทราบว่ามีหน่วยพัฒนาครูเสนอหลักสูตรพัฒนาครูให้สถาบันคุรุพัฒนา พิจารณารับรองกว่า 5,000 หลักสูตร แต่ปรากฏว่ามีหลักสูตรที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้อยมาก เพราะปีนี้ มีนโยบายและกำชับสถาบันคุรุพัฒนา ต้องพิจารณาหลักสูตรด้วยความเข้มข้น เนื่องจากปีที่ผ่านมา ถูกติงว่าสถาบันคุรุพัฒนา ให้ผ่านง่ายเกินไป ไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่จะนำไปพัฒนาเด็กจริง ๆ และหลักสูตรที่อบรมส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องเทคนิคการสอนไม่ค่อยมีองค์ความรู้ ฉะนั้นปีนี้คณะกรรมการพิจารณาหลักสูตร จึงต้องพิจารณาด้วยความเข้มข้นและต้องหลายขั้นตอน โดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เป็นหลักสูตรที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง

“ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่าทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อครูก็ต้องยอมรับในมาตรฐาน ถ้าคิดว่าไม่ดีก็ต้องเสนอแนะเข้ามา ซึ่งสถาบันคุรุพัฒนา และคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตร ล้วนแต่เป็นนักวิชาการก็ต้องนำไปคิด แต่ผมจะไม่ยุ่งเรื่องการพิจารณาหลักสูตร เพราะเป็นหน้าที่ของสถาบันคุรุพัฒนา แม้แต่หลักสูตรของมูลนิธิที่ผมเป็นประธานอยู่เสนอเข้ามาก็ยังตก หรือหลักสูตรของคนรู้จักก็ยังตก ซึ่งผมก็บอกไปว่าเรื่องนี้ไม่มีการใช้เส้นใด ๆ ทั้งสิ้น หลักสูตรที่ผ่านจะต้องได้มาตรฐานจริง ๆ”นพ.ธีระเกียรติ  กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งที่ต้องการคือหลักสูตรที่ไม่มีผู้เสนอให้สถาบันคุรุพัฒนารับรอง ซึ่งตนจะให้นโยบายไปว่าสถาบันคุรุพัฒนา ต้องออกไปตามหาและให้การรับรองหลักสูตรเหล่านั้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นหลักสูตรที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย เพื่อให้ครูเข้าไปรับการอบรม เช่น บูทแคมป์ หรือการอบรมออนไลน์ เพื่อให้ครูได้รับการอบรมอย่างทั่วถึง เพราะบางคนอาจจะอยู่ไกลเดินทางไม่สะดวก

ก็ต้องจับตาดูว่า สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ จะติดตามดูหลักสูตรที่ผ่านการคัดเลือกจากสถาบันคุรุพัฒนา จะเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์กับเด็กจริงหรือไม่

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments