เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ที่ หอประชุมเจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) อาคาร 7 ชั้น 14-15 มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้มีการประกาศผลรางวัลโครงการประกวดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอกของสถานศึกษา ซึ่งเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ร่วมกับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดย ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)อดีตกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ของคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการจัดประกวดแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ครั้งนี้ ต้องการให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของครูเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นต้นแบบในการสร้างนวัตกรรมครูในระดับชาติ โดยการประกวดครั้งนี้มีครูส่งผลงานเข้าประกวดถึง 700 กว่าคน
“เนื่องจากขณะนี้คุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำลง เราไม่สามารถโทษครู โทษผู้ปกครอง หรือ โทษนักเรียนได้ เพราะเป็นวัฒนธรรมที่สอนแบบ Passive Learning มา ขณะที่ผู้ปกครองเองก็ไม่ทราบว่าความรู้กับเนื้อหาแตกต่างกันอย่างไร จึงปล่อยให้เด็กฟัง อ่าน ท่อง และ สอบ แล้วก็ลืม ซึ่งถ้าปล่อยไปอย่างนี้คุณภาพการศึกษาก็จะตกต่ำไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงมีความคิดว่าถึงเวลาที่ต้องแก้ปัญหานี้โดยใช้มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีเป็นแกนในการเริ่มผลักดันในระดับมหาวิทยาลัย ให้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปทั้งประเทศ” ดร.ศักดิ์สินกล่าวและว่า การจัดประกวดครั้งนี้เป็นการเปิดเกมในการกระตุ้นครู GPAS 5 Steps ที่นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งครูก็จะได้รับคำแนะนำกลับไปปรับปรุงในจุดที่ยังเป็นจุดอ่อน ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเห็นผลอย่างชัดเจนแน่นอน
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวอีกว่า ถ้าเราทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นผลสำเร็จโดยเริ่มจากสถาบันผลิตครู ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการศึกษา ถ้าครูเปลี่ยนตัวเองครูก่อนเด็กจะพัฒนาได้ง่ายมาก ก็ต้องถือว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีเป็นหัวใจ สำคัญในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าทำได้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เด็กไทยจะได้ประโยชน์ ถ้าเด็กไทยได้ประโยชน์ นั่นคือการยกระดับสังคมไทยอย่างแท้จริง เพราะถ้าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีฐานความรู้ รัฐบาลจะปฏิรูป จะยกระดับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ก็สามารถทำได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญ และถ้ารัฐบาลทำจริงจัง เด็ก 10 ล้านคน และ พ่อแม่อีก 20 ล้านคนจะสามารถยกขึ้นมาได้แน่นอน โดยทั้งหมดนี้เชื่อว่าใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีน่าจะพัฒนาได้ถึง 60%
ด้าน ผศ.ดร.วาสนา สังข์พุ่ม คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรีมีการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 38 แห่ง ให้ร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและโรงเรียนไปพร้อม ๆ กัน เพราะกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ที่เป็นกระบวนการที่ช่วยขับเคลื่อนและส่งเสริมการพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูเรามีโรงเรียนเครือข่ายทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการก็มีการขับเคลื่อนครูในเรื่องของการเขียนแผนการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการจัดกระบวนการเรียนการสอนผ่าน GPAS 5 Steps ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ จากครูผู้สอนลงสู่นักเรียนในเรื่องของการสร้างนวัตกรรมในโรงเรียนภายใต้บริบทที่เหมาะสม เห็นได้จากผลงานของครูที่ส่งเข้าประกวดในรอบนี้มีคุณประโยชน์อย่างมากเพราะเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่นำไปสู่โรงเรียนและตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง