เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เปิดเผยว่า จากกรณีข้าราชการครูที่ได้รับแต่ตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่งานการเงินของโรงเรียนแห่งหนึ่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)กาญจนบุรี เขต 4 ได้ร้องขอความเป็นธรรมภายหลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดร่วมกับอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน จากการลงนามในเอกสารเบิกจ่ายค่าอาหารกลางวัน โดยยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้นสังกัด และยืนยันว่า ขณะนี้ เขตพื้นที่ฯยังไม่มีคำสั่งลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินการในขั้นต่อไป สพฐ. ได้จัดเตรียมนิติกรจากส่วนกลาง เพื่อสนับสนุนการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครูสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้เป็นการสะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องทบทวนบทบาทภาระงานของครูในภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะงานด้านการเงินและพัสดุซึ่งมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงเชิงกฎหมายสูง ซึ่งขณะนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบสนับสนุนภายในโรงเรียน เพื่อให้โครงสร้างงานสนับสนุนมีความเหมาะสมกับวิชาชีพครูมากยิ่งขึ้น
“ผมย้ำเสมอว่าต้องลดภาระครู ให้ครูได้สอนเด็กเต็มที่ เต็มเวลา แต่ทุกวันนี้ครูยังได้รับมอบหมายงานอื่นที่ไม่ใช่งานสอน ทำให้ครูต้องออกจากห้องเรียน ซึ่งกรณีนี้ก็เช่นกัน ข้าราชการครูที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตจะต้องไม่เผชิญกระบวนการตามลำพังสพฐ. พร้อมอยู่เคียงข้างและสนับสนุนในทุกขั้นตอน เพื่อให้สามารถใช้สิทธิและเข้าถึงความเป็นธรรมได้อย่างมั่นใจครับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว