เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ที่ โรงเรียนราชวินิต ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจการเช่าใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจากได้รับทราบรายงานจาก เลขาธิการ กพฐ.และปลัดกระทรวงศึกษาธิการแล้วรู้สึกใจ สะเทือนใจ หดหู่เป็นอย่างยิ่ง ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น เราทุกคนหัวใจสลาย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ศธ.ก็จะทำหน้าที่ดูแลครอบครัวให้ดีที่สุด โดยจากรายงานล่าสุด ได้มีการสั่งปิดโรงเรียนไปแล้ว 582 โรง ใน 4 จังหวัด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และ บุรีรัมย์ มีนักเรียนเสียชีวิต 2 ราย ที่สุรินทร์กับศรีสะเกษ และมีนักเรียนบาดเจ็บ อีก 2 ราย
“ในนามของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตและที่ได้รับบาดเจ็บรวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย เราก็ไม่อยากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว กระทรวงศึกษาธิการก็จะทำหน้าที่ของเราในการดูแลครอบครัวเด็กนักเรียนให้ดีที่สุด ส่วนที่เราสามารถทำได้ก็จะทำเต็มที่ สำหรับนักเรียนที่เสียชีวิตที่ปั้มน้ำมันนั้น น้องกำลังจะเดินทางกลับบ้าน ซึ่งทางโรงเรียนมีแนวปฏิบัติ 2 ทาง เช่น หากเกิดสงครามหรือมีการใช้อาวุธ แนวทางแรกให้นักเรียนหลบที่หลุมหลบภัยภายในโรงเรียน และเมื่อประเมินสถานการณ์แล้วว่าปลอดภัย ก็ให้นักเรียนกลับบ้านได้ แต่เหตุที่เด็กเสียชีวิตเนื่องจากเสียงปืนสงบแล้วและคิดว่าปลอดภัยแล้ว ผู้ปกครองก็มารับกำลังเดินทางกลับบ้านพอดี”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อไปว่า โรงเรียนมีแผนเผชิญเหตุ มีการวางแผนเส้นทางกันไว้แล้ว ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้น จะต้องทำอะไรบ้าง ก็คงไม่มีใครคาดคิด และทางกองทัพเองก็ไม่คิดว่าทางกัมพูชาจะยิงเข้ามาก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกองทัพภาคที่ 2 ก็ดูแลพื้นที่แล้ว ในส่วนของโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบก็ให้ปิดโรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่อยู่ไกลจากแนวตะเข็บชายแดน ก็พร้อมตั้งเป็นศูนย์พักพิงสำหรับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เข้าไปพักแล้ว โดยบางโรงเรียนสามารถรองรับประชาชนได้ 2-3 พันคน ซึ่งก็จะให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เข้าพักพิงได้ สำหรับการช่วยเหลือนักเรียนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น เลขาธิการ กพฐ. จะนำเงินจากกองทุน สพฐ.ไปช่วยเหลือเยียวยา ส่วนจะเปิดเรียนได้เมื่อไหร่นั้นก็ต้องติดตามสถานการจากฝ่ายความมั่นคงต่อไป แต่หากมีการปิดเรียนยาว ทาง สพฐ.ก็มีแผนสำรองในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียน โดยจะใช้แนวทางที่เคยใช้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19