เมื่อวันที่ 30 ก.ค.นายประเสริฐ  บุญเรือง  รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  เปิดเผยกรณีนายอรรถพล ตรึกตรอง  ผู้ตรวจราชการ ศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)ได้ฟ้องคดี คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เพิกถอน มติคณะกรรมการ  สกสค. กรณีแต่งตั้ง นายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นเลขาธิการ สกสค. และเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนายณรงค์  เป็นเลขาธิการ สกสค. นั้น วันนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาแล้วโดยศาลได้มีมติใน 2 ประเด็น คือ 1.ศาลเห็นว่านายอรรถพล มีอำนาจในการฟ้องคดีนี้ และ 2.มติชอบและคำสั่งชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ โดยจำแนกในแต่ละประเด็น  เช่น กรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อดีตรักษาราชการแทน รมว.ศึกษาธิการ มอบให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการสกสค. แทน และ กรณีที่นายการุณ มอบอำนาจให้ตน เข้าประชุมแทนในตำแหน่งปลัด ศธ. ถือว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลพิจารณาแล้วว่า คณะกรรมการชุดนี้ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ดังนั้น การมอบอำนาจให้เข้าร่วมประชุมแทน จึงชอบด้วยกฎหมาย และตนสามารถลงคะแนนเสียงเลือกเลขาธิการ สกสค.ได้ ส่วนกรณีที่นายอรรถพล ฟ้องว่าตน  และนายบุญรักษ์  ยอดเพชร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) มีสภาพร้ายแรง ไม่สามารถลงมติเลือกเลขาธิการ สกสค.ได้ เนื่องจากนายอรรถพล เคยเป็นประธานคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงตนกรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต  และเป็นประธานสืบข้อเท็จจริง นายบุญรักษ์ กรณีจัดซื้อจัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  กรณีนี้ศาลมีมติว่าการที่นายอรรถพล เป็นประธานสืบข้อเท็จจริง มีหน้าที่เพียงหาข้อมูล แต่ไม่ได้มีอำนาจในการลงโทษและตัดสิน และเรื่องนี้ผู้มีอำนาจที่แท้จริงได้ยุติเรื่องแล้ว  การที่นายประเสริฐ และนายบุญรักษ์  เข้าไปร่วมเป็นกรรมการ สกสค. ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้เป็นสภาพร้ายแรง   

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ศาลยังวินิจฉัย กรณีที่นายอรรถพล มอบหมายให้ นายวิมล จำนงบุตร รองเลขาธิการสกสค. ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ สกสค. นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายวิมล เป็นผู้ที่นายอรรถพลแต่งตั้งขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการ สกสค. ซึ่งศาลเห็นว่า การมอบอำนาจดังกล่าว เป็นสภาพร้ายแรง เพราะเจตนา รู้อยู่แล้วว่า นายวิมล ต้องเข้าไปลงคะแนนเสียงเลือกนายอรรถพล  แต่ก็ยังมอบหมาย ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีนายณรงค์ ถือเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการสรรหา เนื่องจากไม่ได้แนบวุฒิการศึกษาในการสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นเลขาฯสกสค.  ดังนั้น  คำสั่งแต่ตั้งนายณรงค์ เป็น เลขาธิการสกสค. ซึ่งลงนามโดยปลัดศธ. จึงถือว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ศาลจึงมีมติ ให้เพิกถอนมติคณะกรรมการสกสค.

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างในฐานะที่กำกับดูแลการบริหารงานบุคคล ขอให้เป็นอุทาหรณ์ ว่า การที่ผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปเลือกตัวเอง ถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย  เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน  ถือเป็นกรณีตัวอย่าง ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั่วประเทศ  ควรจะพึงระวัง ในการมอบอำนาจบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้เข้าประชุมแทน เพราะศาลตัดสินแล้วว่า เป็นสภาพร้ายแรง ไม่สามารถทำหน้าที่แทนได้ ไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง

“ผมจะรายงานให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการรับทราบ ส่วนจะเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ หรือจะดำเนินการต่อไปอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายณัฎฐพล”รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว  

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments